เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (จบ)

02 มี.ค. 2566 | 01:00 น.

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3866


ช่วงที่ผ่านมา มีคณะผู้ทนภาครัฐและเอกชนจีนเดินทางมาเยือนไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามมาด้วยกิจกรรมพิเศษมากมาย จนทำเอาผมต้อง “หายหน้า” ไประยะหนึ่ง แต่พอดีวันก่อน ผมขับรถผ่านดิจิทัล พาร์ค 101 และเหลือบเห็น “โครงการปลูกสตรอเบอร์รี่แนวดิ่ง” ก็สนใจ ทำให้นึกต่อไปว่า อนาคตเราอาจสามารถซื้อหาสตรอเบอร์รี่สดจากต้นได้ใกล้บ้านเลยเป็นแน่ 

วันนี้ผมเลยอยากชวยคุยเรื่อง “การทำฟาร์มแนวดิ่ง” (Vertical Farming) ในจีน ซึ่งอาจเป็นอีกรูปแบบการทำเกษตรสมัยใหม่ของจีนในอนาคต ...

นับแต่เปิดประเทศในช่วงกว่า 4 ทศวรรษ จีนได้พยายามเชื้อเชิญกิจการของต่างชาติ ให้เข้าไปลงทุนด้านการเกษตรในประเทศอย่างต่อเนื่อง เราเห็นกิจการเกษตรชั้นนำของต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีนเพิ่มมากขึ้น และหนึ่งในรูปแบบก็ได้แก่ การทดสอบทดลองทำการเกษตร “แนวดิ่ง” มากขึ้น

การทำฟาร์มเกษตรแนวดิ่งมีประโยชน์และข้อได้เปรียบในหลายด้าน อาทิ ความประหยัดของพื้นที่ และการ “ก้าวข้าม” ข้อจำกัดด้านพื้นที่และสภาพอากาศอีกด้วย ทำให้สามารถทำเกษตรโดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยน “ภาระ” ที่ไม่เกิดประโยชน์หรือสร้างประโยชน์น้อยเป็น “เวที” ในการผลิตอาหาร และกลายเป็น “พลัง” ทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย

ภายหลังการทดสอบโมเดลการพัฒนาจนตกผลึก เราจึงเห็นกิจการในวงการนำเอาแนวคิดเรื่องการทำฟาร์มแนวดิ่ง มาใช้อย่างแพร่หลายในจีน ในช่วงหลายปีหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกพืชผัก การเลี้ยงไก่ หมู และ การประมง

กิจการเหล่านี้ผสมผสานระหว่างความรู้ความชำนาญด้านการเกษตรเข้ากับระบบอัตโนมัติด้านดิจิทัล จนเกิดเป็นธุรกิจมากมาย หลายรายนำเอาเทคโนโลยีและโนวฮาวที่มีไปให้บริการติดตั้งการทำฟาร์มแนวดิ่ง 

เราเห็นกิจการสตาร์ตอัพในด้านนี้ผุดขึ้นมาเป็นระลอก พร้อมกับการขายความคิด “ทุกที่ ทุกเวลา และอนาคตที่ดีขึ้น” อาทิ Nongshim และ SananBio ที่เป็นกิจการให้บริการติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อการเพาะปลูกดังกล่าวชั้นนำของจีนในปัจจุบัน 

จุดเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ ระบบดังกล่าวเปิดให้สามารถเพาะปลูกพืชผักได้หลากหลายประเภทและสายพันธุ์ จนแทบกล่าวได้ว่า “ไร้ขอบเขต” มีคู่มือการเพาะปลูกมาตรฐาน การผสมปุ๋ยและอ๊อกซิเจนในน้ำ การออกแบบแสง ระบบอัตโนมัติ การควบคุมสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นอีกมากมาย

การผสมปุ๋ยและอัดออกซิเจนในน้ำในระดับที่เหมาะสม กับ พืชผัก ในแต่ละระยะ ก็ช่วยให้เกิดความประหยัด ขณะเดียวกัน เกษตรกรยุคใหม่ยังสามารถเลือกสเป็กตรัมของแสงจากหลอดแอลอีดี (LED) ให้เหมาะสมกับประเภทของพืชผัก ยิ่งหากเปิดไฟให้แสงสว่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น ก็จะทำให้ได้รับผลผลิตที่รวดเร็วขึ้น

ระบบของผู้ให้บริการบางราย ยังติดตั้งกล้องวงจรผิด เพื่อติดตามการเติบโตของผลผลิตตลอดช่วงอายุจนถึงระยะเก็บเกี่ยว

ข้อมูลจากบริษัทที่ให้บริการระบบดังกล่าว พบว่า เมื่อเทียบกับการเพาะปลูกรูปแบบดั้งเดิม การเพาะปลูกแนวดิ่งที่มีระบบอัตโนมัตินี้ ช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 30% ลดการว่าจ้างบุคลากรได้ 30% ประหยัดการใช้พลังงานและน้ำได้อีก 20% และ 40% ต่อคน ตามลำดับ นอกจากนี้ การเกษตรแนวดิ่งนี้ยังจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานอีกด้วย

                               เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับความมั่นคงด้านอาหาร (จบ)

ประการสำคัญ ผลผลิตที่ได้รับก็มีความสะอาดและปลอดภัยยิ่ง ระดับของแบคทีเรียก็ได้รับการควบคุม และปราศจากศัตรูพืช ซึ่งทำให้ไม่ต้องกังวลใจเกี่ยวกับการใช้ยาฆ่าแมลงได้อย่างสิ้นเชิง
สิ่งนี้ทำให้ผมมองว่า การเพาะปลูกพืชผักออร์แกนิค ที่ดูยุ่งยากในอดีต และปัจจุบันจะกลายเป็น “เรื่องปกติ” ที่แสนง่ายในอนาคต
ยิ่งหากรูปแบบการทำธุรกิจเป็นลักษณะการ “สั่งจองล่วงหน้า” ก็ช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ และไม่มีผลผลิตตกค้าง หรือเหลือน้อยมาก 

บางแห่งแก้ไขปัญหาส่วนหลัง ด้วยการเปิดร้านอาหาร และจุดจำหน่ายผักผลไม้ ณ สวนแนวดิ่ง หรือสถานที่ใกล้เคียงด้วยพร้อมกัน 

ด้วยความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารได้ เรายังเห็นการเพาะปลูกพืชผัก และการทำฟาร์มเลี้ยงไก่ ในสภาพอากาศภายนอกไม่เอื้ออำนวย อาทิ การลงทุนของกิจการในเครือซีพีในฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง และ ฉางชุน มณฑลจี๋หลิน ที่มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นสุดขั้วในฤดูหนาว 

แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูงและต้องใช้ทรัพยากรการลงทุนมาก แต่กิจการที่เกี่ยวข้องมีหลักคิดที่น่าสนใจที่ว่า “ถ้าทดลองทำได้สถานที่ดังกล่าว ก็จะสามารถนำเอาต้นแบบไปต่อยอดได้ในทุกแห่งของจีน และ เสมือนทำเงินได้ตลอด 365 วัน” 

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นการนำเอาการเกษตรแนวดิ่ง ไปประยุกต์ใช้กับฟาร์มเลี้ยงหมู ปลา และ กุ้งแบบคอนโดมาแล้วบ้าง นั่นหมายความว่า การทำการเกษตรไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ชนบทอีกต่อไป และมีลักษณะเป็น “โรงงานด้านการเกษตร” มากขึ้น

การเพาะปลูก ปศุสัตว์ และ ประมง สามารถดำเนินการใกล้จุดจำหน่ายสินค้าได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์ และเพิ่มความสดใหม่ในด้านคุณภาพเมื่อถึงมือผู้บริโภคได้อีกด้วย

ความหลากหลายของประโยชน์ดังกล่าวยังสะท้อนถึง “ความยั่งยืน” ด้านการเกษตรอีกด้วย ปัจจัยการผลิตที่ไม่อาจทำการเกษตรได้ในสภาพภูมิประเทศที่เสื่อมโทรมและอากาศที่ผันผวน ก็ถูกนำกลับมาใช้ได้ ขณะที่ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่เดิมก็ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือถูกนำไปใช้เพื่อการอื่น ทำให้เพิ่มผลตอบแทนด้านการลงทุน

ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านการเกษตร สร้างความกระชุ่มกระชวยในพื้นที่ชนบท การคิดค้นนวัตกรรมด้านการเกษตรบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเกษตรยุคใหม่ ทำให้จีนสามารถ “ยิ่งกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว” 

สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และยกระดับความมั่นคงด้านอาหาร เป็นประโยชน์ในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม และยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

จีนยังคงจะเดินหน้าพัฒนาสู่การเกษตรสมัยใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้เกิดขึ้นภายในประเทศในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม และอาจเปลี่ยนสถานะจากประเทศ “ผู้นำเข้า” สู่ “ผู้ส่งออก” สินค้าเกษตรและอาหารในเวทีโลกในระยะยาว ไว้มีสิ่งใหม่ๆ ในประเด็นนี้ ผมจะนำมาอัพเดตอีกนะครับ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน