เมื่ออุตสาหกรรมเรือสําราญก้าวสู่“ยุคทอง”ครั้งใหม่ (จบ)

05 พ.ค. 2567 | 23:30 น.

เมื่ออุตสาหกรรมเรือสําราญก้าวสู่“ยุคทอง”ครั้งใหม่ (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3989

ผลจากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ จะทำให้อุตสาหกรรมเรือสำราญของจีนเป็นเช่นไรในอนาคต ...

รัฐบาลจีนยังวางแผนที่จะกระตุ้นให้ท่าเทียบเรือสำราญ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอย่าวครอบคลุมและรอบด้าน เพื่อสนับสนุนนโยบาย “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21”

ทั้งนี้ จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้หลายหัวเมือง อาทิ เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน เซินเจิ้น ต้าเหลียน และ ชิงต่าว เป็นจุดหมายจอดเรือสำราญระหว่างประเทศชั้นนำของโลก

รวมทั้งยังจะพัฒนาให้มณฑลไห่หนาน (เมืองซานย่า) และ มณฑลกวางสี (เมืองเป๋ยไห่และฝางเฉิงก่าง) ให้เป็นอีกท่าเรือหลักสำหรับเรือสำราญระดับภูมิภาคในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางจีน-อาเซียน

รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละหัวเมือง อาทิ เซี่ยงไฮ้ ก็กระโดดเข้าร่วมวงในทันที มาถึงวันนี้จำนวนและความสามารถในการให้บริการของเรือสําราญโดยรวม ที่ใช้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางกําลังกลับเข้าใกล้ระดับของปี 2019 

เซี่ยงไฮ้ถือเป็นเมืองท่าเรือสำราญระหว่างประเทศ “ต้นแบบ” ชั้นนำของจีนในปัจจุบัน เพราะมหานครแห่งนี้มีจุดแข็งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอํานวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง อาทิ Shanghai Port International CruiseTerminal ที่มีโครงข่ายการขนส่งและสื่อสารกับพื้นที่หลังท่าที่ดีเยี่ยม 

ขณะเดียวกัน ในมิติเชิงเศรษฐกิจ เซี่ยงไฮ้ยังเป็น “หัวมังกร” ของพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุด และยังเป็นแหล่งรองรับคนทำงาน และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพสูงของจีน ทำให้เกิดความน่าดึงดูดใจต่อสายการเดินเรือหลักทั่วโลก และผู้โดยสาร

เท่านั้นไม่พอ ตลาดเรือสำราญของเซี่ยงไฮ้ ยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 3 ล้านคนต่อปีในอนาคตอันใกล้ เรากำลังพูดถึงตลาดเรือสำราญขนาดใหญ่ 400-500 เที่ยวต่อปีเลยทีเดียว

ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับอุปสงค์ดังกล่าว รัฐบาลเซี่ยงไฮ้จึงวางแผนที่จะพัฒนาท่าเทียบเรือเดิม และก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และทางเลือกแก่ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ การเป็นจุดเริ่มต้นของบริการเรือ Adora Magic City เรือสําราญขนาดใหญ่ลําแรกของจีน ยังตอกย้ำว่าเซี่ยงไฮ้มีขีดความสามารถและศักยภาพสูงในการพัฒนาตัวเอง ให้กลายเป็นหัวใจสําคัญของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเรือสําราญระดับโลกแห่งใหม่

รัฐบาลจีนยังจะสำรวจทรัพยากรการท่องเที่ยวทางน้ำของเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน และ เขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำแยงซีเกียง รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมเชิงประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ทางธรรมชาติและเมืองในท้องถิ่น

สายการเดินเรือเหล่านี้ ยังประสานความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นและสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองที่เรือเข้าเทียบท่า ตั้งแต่การผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และอื่นๆ เพื่อใช้เวลาของนักท่องที่ยวในแต่ละจุดจอดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 

นโยบายและความตกลงวีซ่าฟรีระหว่างจีนกับหลายประเทศในภูมิภาค และพัฒนาการของระบบการชําระเงินระหว่างประเทศผ่านสมาร์ตโฟน ที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การเข้าออกและการจับจ่ายใช้สอยในแต่ละจุดจอดสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น

อันที่จริงแล้ว แม้ว่านักท่องเที่ยวอาจมีโปรแกรมใช้เวลาอยู่ในแต่ละเมืองเพียงระยะสั้นๆ 1-2 วันเท่านั้น แต่บริการเช่นนี้ก็เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนบรรยากาศ แทนที่จะใช้เวลาอยู่แต่บนเรือสำราญและได้ซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่าง

ขณะเดียวกัน สายการเดินเรือก็มักจะตระเตรียมเส้นทางการเดินทางที่น่าสนใจไว้อย่างเพียบพร้อม อาทิ การเยี่ยมชมจุดชมวิวสำคัญ การเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม การนั่งรถรางและรถม้า และการเยี่ยมญาติพี่น้องในท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์เชิงลึก และความประทับใจในหมู่ผู้โดยสาร

 ภาพถ่ายที่งดงามจากประสบการณ์ใหม่ ทั้งบนเรือ และ จุดจอดมักถูกโพสต์ในโลกอินเตอร์เน็ต และกลายเป็น “กระบอกเสียง” อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง สำหรับการขยายตลาดใหม่ในอนาคต หรือ แม้กระทั่งแย่งกลุ่มลูกค้าจากตลาดเดิมได้อีกด้วย

ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านอาจต้องยอมบินไปยุโรป เพื่อล่องเรือสำราญส่องดูความคลาสสิกในเมืองท่าของยุโรป แต่มาถึงปัจจุบัน เราอาจมีทางเลือกที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ไม่แพ้กัน 

ท่านผู้อ่านสามารถบินไปขึ้นเรือสำราญที่เซี่ยงไฮ้ หรือ เมืองท่าด้านซีกตะวันออกของจีน เพื่อไปเยือนหัวเมืองในเอเซียตะวันออกและภูมิภาคอื่นกันได้แบบถูกตังค์ ประหยัดเวลา เหนื่อยน้อยลง พร้อมกับทัศนียภาพที่แปลกใหม่ และมากด้วยเสน่ห์

                            เมื่ออุตสาหกรรมเรือสําราญก้าวสู่“ยุคทอง”ครั้งใหม่ (จบ)

ในส่วนของภาคเอกชน เรายังได้เห็นกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ สายการเดินเรือของจีน และ ต่างชาติ เหล่านี้พัฒนาความเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างมากมาย อาทิ การออกโปรแกรมการฝึกอบรมตัวแทนการท่องเที่ยวออนไลน์ การสื่อสารและทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวีแชต (WeChat) โต่วอิน (Douyin) และ เรด (RED) รวมถึงการจัดแคมเปญพิเศษที่เชื้อเชิญศิลปินและนักแสดงชั้นนำเพื่อสร้างสีสันบนเรือ

ในด้านอุปสงค์ องค์กร และ ผู้เชี่ยวชาญในวงการนี้ของจีนต่างประเมินว่า อุตสาหกรรมเรือสำราญของจีนจะเติบใหญ่สู่ “ยุคทอง” อีกครั้ง นับแต่ปี 2026 หรือในอีกราว 2 ปีข้างหน้า และแสดงความมั่นใจในโอกาสระยะยาวของตลาดเรือสําราญจีน รวมทั้งยังเชื่อว่าจีนจะสามารถเป็นศูนย์กลางการแห่งความเฟื่องฟูได้

รายงานการศึกษาของจีน สะท้อนถึงศักยภาพทางธุรกิจที่ดีในระยะยาว โดยคาดว่า ตลาดจีนจะมีจำนวนผู้โดยสารต่อปีสูงถึง 14 ล้านคน ภายในปี 2035 
หากจีน “ต่อยอด” พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเรือสำราญได้อย่างต่อเนื่อง ก็อาจก้าวสู่ “ตลาดภายนอก” ออกไปแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศในระยะยาว เฉกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นที่ธุรกิจจีนอาศัยตลาดภายในประเทศ “บ่มเพาะ” และสร้างความพร้อมก่อนบุกตลาดโลกที่มีขนาดใหญ่กว่ารออยู่

รายงานของคลากสันส์ (Clarksons) สถาบันวิจัยการเดินเรือชั้นนำระหว่างประเทศ ระบุว่า ตลาดเรือสําราญทั่วโลกจะดีดตัวขึ้นจากจำนวนผู้โดยสาร 31 ล้านคน ในปี 2023 เป็นมากกว่า 40 ล้านคนภายใน 5 ปีข้างหน้า 

ด้วยความพร้อมและศักยภาพด้านอุปทานและอุปสงค์ และการสนับสนุนที่พร้อมสรรพของจีน คนในวงการจึงต่างมองว่า มันเป็นเพียงเรื่องของเวลาเท่านั้น ที่จีนจะกลับมาสู่จุดสูงสุดและบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยานดังกล่าว

นี่อาจเป็น “การเดินทางไกล” ที่เต็มไปด้วยความท้าทายอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้เป็นของอุตสาหกรรมเรือสำราญ...