การขยายอิทธิพลของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตอนที่ 2

08 มี.ค. 2566 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2566 | 10:15 น.

การขยายอิทธิพลของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตอนที่ 2 : โอกาสและความท้าทายของ ไทยและ สาธารณรัฐประเทศเกาหลี โดย ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์

ผมกับทีมวิจัยได้ศึกษาและวิเคราะห์ “การขยายอิทธิพลของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง: โอกาสและความท้าทาย” สำหรับสาธารณรัฐเกาหลี และไทย โดยได้รับทุนจาก Korean Foundation โดยมีทีมวิจัย เช่น Prof. Yoonmin Kim จากมหาวิทยาลัย Keimyung ได้ข้อสรุปที่สำคัญจากการศึกษาผลกระทบจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐเกาหลี กับประเทศที่ค้าขายกันในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) 

โดยการศึกษามุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพความร่วมมือใน GMS ซึ่งพบว่าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีส่วนสำคัญในเพิ่มพอร์ตการลงทุนทางเศรษฐกิจของไทยและสาธารณรัฐเกาหลี โดยการศึกษาใช้ เครื่องมือ Gravity Model ในการหาคำตอบการศึกษา โดยใช้วิธีการสุ่มผลเพื่อทำนายการลงทุนการค้าพหุภาคีและความร่วมมือทางการเงิน 

คำถามที่น่าสนใจ คือ โอกาสและความท้าทายสำหรับสาธารณรัฐเกาหลีและไทยที่จะขยายตัวมีอะไรบ้างในประเด็นความสัมพันธ์ทางการค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงท่ามกลางกรอบการแข่งขัน โดยเฉพาะอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อเพิ่มผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ของนโยบายการลงทุนและ รวมถึงการสร้างงาน

ข้อคิดที่สำคัญในการค้นพบ คือ เราพบเงื่อนไขปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างการเปิดกว้างทางการค้าและการขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดการเงิน ภายใต้ความร่วมมือใน GMS กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ในขณะที่มีการเปิดกว้างทางการค้าโดยเฉพาะการส่งออกสินค้า และการยกระดับความร่วมมือการพัฒนาตลาดการเงินร่วมกัน สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศไทย ควรดำเนินนโยบายดังกล่าวที่จะเป็นปัจจัยหลักในการยกระดับความร่วมมือ ใน GMS 

ผลลัพธ์เหล่านี้จะช่วยบ่งชี้ถึงปัจจัยความสัมพันธ์ที่สำคัญในการยกระดับการส่งเสริมประสิทธิภาพของความร่วมมือ GMS ถึงแม้ว่า สาธารณรัฐเกาหลีจะไม่อยู่ในกลุ่ม GMS ก็ตาม แต่สาธารณรัฐเกาหลีจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการลงทุนต่าง ๆ ในกลุ่ม GMS 

นอกจากนี้ ประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลีมีความจำเป็นต้องเดินหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกด้านนโยบายบางประการในบริบทของผลประโยชน์ที่มากขึ้น จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ GMS โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดการเงินร่วมกันก่อนที่จะเริ่มดำเนินนโยบายอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ผลเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบัน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าทั้งของไทยและสาธารณรัฐเกาหลีตามที่คาดไว้ เนื่องจากมีความตั้งใจที่ไม่ตรงกันบางประการเกี่ยวกับความร่วมมือ GMS 

ดังนั้นเราจึงพบว่านโยบายและยุทธศาสตร์กับประเทศลุ่มน้ำโขงมีความจำเป็นในการดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ และต้องมีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสริมสร้างทุนมนุษย์ต่อผลิตภาพแรงงาน (Human Capital Productivity) การเปิดกว้างทางการค้า (Trade openness) และ การขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดการเงิน (Financial Development) ที่เอื้อต่อความร่วมมือของประเทศใน GMS มากขึ้น