กลยุทธ์ลดการแข่งขันในหมู่พี่น้องในธุรกิจครอบครัว (1)

27 เม.ย. 2567 | 08:04 น.

Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

กล่าวกันว่าความสำเร็จของธุรกิจขนาดเล็กขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้มีอำนาจตัดสินใจในการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่นั่นอาจเป็นเรื่องยากสำหรับธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการแข่งขันในหมู่พี่น้อง (sibling rivalry) ทำให้พนักงานคนสำคัญต้องแยกกันเป็นฝักฝ่าย

อย่างไรก็ตามการแข่งขันในหมู่พี่น้องอาจไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเลยก็ได้ โดยทั่วไปเมื่อนึกถึงการแข่งขันในหมู่พี่น้อง ก็อาจจินตนาการถึงภาพการดึงผม การต่อสู้ และการตะโกนแข่งกันของเด็กๆ เท่านั้น

กลยุทธ์ลดการแข่งขันในหมู่พี่น้องในธุรกิจครอบครัว (1)

แต่หากการแข่งขันยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพี่น้องเหล่านั้นทำงานร่วมกันในธุรกิจครอบครัว อาจทำให้ผลิตภาพลดลง ทำให้พนักงานเกิดความขัดแย้งกัน และเป็นอุปสรรคต่อผลกำไรของบริษัท หากใครเคยเป็นกรรมการตัดสินตลอดเวลาที่พี่น้องขัดแย้งกันในธุรกิจครอบครัว

จะพบว่าบางทีปัญหาอาจไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเลยก็ได้ บ่อยครั้งที่รูปแบบความขัดแย้งที่เคยเกิดมาตั้งแต่สมัยเด็กสามารถตามเข้ามาในธุรกิจครอบครัวด้วย ทำให้งานในการบริหารธุรกิจที่ยากลำบากอยู่แล้วยิ่งยากขึ้นไปอีก

ขณะที่พ่อแม่ซึ่งเป็นซีอีโอก็อาจมีส่วนทำให้เกิดการแข่งขันในหมู่พี่น้องในที่ทำงานได้เช่นกัน บางครั้งความขัดแย้งที่สำคัญของการแข่งขันในหมู่พี่น้องไม่ได้มาจากพี่น้องเลย เมื่อเด็กๆเติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นผู้ประกอบการ พวกเขาอาจเรียนรู้ว่าการแข่งขันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดึงดูดความสนใจจากแม่หรือพ่อ ด้วยความต้องการเวลาอย่างมากจากพ่อแม่ที่เป็นซีอีโอนี่เอง อาจทำให้พี่น้องต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความสนใจและความรักจากพ่อแม่ และการแข่งขันเช่นนี้ก็อาจดำเนินต่อไปเรื่อยๆในธุรกิจครอบครัว

ตัวอย่างเช่น หากพี่น้องได้รับมอบหมายให้ทำงานคนละทีม พวกเขาอาจผลักดันพนักงานของตนให้ทำผลงานเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อสร้างความประทับใจให้พ่อแม่และได้รับรางวัลทางอารมณ์จากความสำเร็จนั้น การแข่งขันประเภทนี้บางครั้งเรียกว่า “การแข่งขันทางอารมณ์” (emotional rivalry) ซึ่งจะเกิดขึ้นมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้บริหาร วุฒิภาวะด้านอารมณ์ความรู้สึกและด้านความสัมพันธ์ของพวกเขาด้วย

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,986 วันที่ 25 - 27 เมษายน พ.ศ. 2567