ผลกระทบจากเหตุการณ์ “สึนามิ” ที่เกิดขึ้นในไทย เมื่อ 20 ปีก่อน น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญหนึ่ง ที่ปลุกให้ภาครัฐต้องตระหนักถึงการมี “ระบบเตือนภัยพิบัติ” รวมถึงแผนรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้
แต่ระบบเตือนภัยพิบัติทางนํ้า ก็อาจจะยังไม่ครอบคลุม เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งมีจุดศูนย์กลางที่ อ.พาน จ.เชียงราย ในปี 2557 ซึ่งมีระดับความแรงที่ 6.3 หนักสุดในรอบ 40 ปี (ณ ขณะนั้น) สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน ถนนแตกร้าว หรือ จะเป็นมหาอุทกภัยนํ้าท่วมครั้งใหญ่ ในปี 2554 และ ปี 2564 ที่สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ก็ยังไม่มีระบบเตือนภัยพิบัติ ที่จะแจ้งข่าวสารให้กับผู้คนได้รับรู้
“ระบบเตือนภัยพิบัติ” ถือเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อลดความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
จากเหตุการณ์สึนามิ “ระบบแจ้งเตือนภัยสึนามิ” จึงเหมือนเป็นต้นแบบ แม้เมื่อเกิดเหตุการณ์ ทุ่นสึนามิ ก็ส่งสัญญาณเตือนบ้าง ไม่เตือนบ้าง แต่ก็มีระบบเฝ้าระวังภัยสึนามิอื่นๆ ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ทำหน้าที่แจ้ง ควบคู่กันไป
ส่วนระบบเตือนภัย Cell Broadcast ที่หลายคนพูดถึงในขณะนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะระบบเตือนภัยนี้เกิดขึ้นใน ปี 2567 เมื่อเกิดนํ้าท่วมใหญ่ ในจ.เชียงราย และ นายกฯ อิ๊งค์ “แพทองธาร ชินวัตร” นี่แหละที่เป็นผู้อนุมัติเคาะงบประมาณกว่าพันล้านบาท ให้พัฒนาระบบ “Cell Broadcast” เพื่อแจ้งเตือนภัยประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่ทุกคนมีติดตัวตลอดเวลา
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ก็มีระบบ SMS แล้ว ทำไมจะต้องมีระบบ “Cell Broadcast” อีก
ระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS เป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ส่งข้อความถึงทุกเครื่องในพื้นที่พร้อมกันในครั้งเดียว พร้อมเสียงเตือนดังแม้จะเปิดโหมดเงียบ หรือ ปิดเครื่อง โดยข้อความจะขึ้นบนหน้าจอทันที สามารถเจาะจงพื้นที่ได้ ส่งเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันเพิ่ม และทุกเครื่องรับได้เลย แม้เครือข่ายจะหนาแน่น ก็ส่งได้รู้พร้อมกันทันที แตกต่างกับ SMS ที่ยังมีข้อจำกัด คือ ส่งช้า ต้องมีฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ ไม่มีเสียงเตือนพิเศษ และไม่สามารถส่งได้จำนวนมากๆ ในเวลาเดียวกัน
จะว่าไป ระบบ CBS น่าจะเป็นระบบแจ้งเตือนภัยที่สามารถสื่อสารและทำความเข้าใจกับคนหมู่มากได้ดีทีเดียว
แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้อาคารสูง บ้านเรือนที่อยู่อาศัย จนทำให้ผู้คนแตกตื่นวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ไร้สัญญาณเตือนทั้งภัยพิบัติก่อนที่จะเกิดขึ้น (ซึ่งอันนี้เข้าใจได้ เพราะเหตุการณ์กระชั้นชิด) แต่การสื่อสาร ส่งข่าวสาร ทำความเข้าใจ ถึงสถานการณ์ต่างๆ กลับเงียบหาย ทำให้ผู้คนจำนวนมากค้างเติ่งอยู่บนถนน ใต้ตึก ใต้อาคาร บางคนต้องเดินจากที่ทำงานกลับบ้าน ด้วยระยะทางนับ 10 กม.
ไม่มี SMS แจ้งเตือน หรือให้ข้อมูลใดๆ จากภาครัฐ ไม่มีข่าวสารความเคลื่อนไหว ความคืบหน้าใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวอีกหรือไม่ ไม่มีใครรู้ว่า จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกเมื่อใด จนขณะนี้ที่ผ่านไปเกือบ 100 ชั่วโมง เชื่อว่ายังมีผู้คนอีกนับแสน ที่ไม่เคยได้รับ SMS ใดๆ เลย
ความหวังที่จะใช้ระบบ Cell Broadcast แจ้งเตือนภัย คงรออีกไม่นาน เพราะงานนี้ “นายกฯอิ๊งค์” นั่งบัญชาการเอง หากยังใช้การไม่ได้คงมีอาฟเตอร์ช็อกใน ปภ. และ กสทช . อีกรอบ...
หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,084 วันที่ 3 - 5 เมษายน พ.ศ. 2568