ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประเทศตามมา อีกด้านหนึ่งการทูตเพื่อการพัฒนา หรือ Development Diplomacy และการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเป็นนโยบายที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ
รัฐบาลได้จัดตั้งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศขึ้นเมื่อปี 2558 โดยยกระดับจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ขึ้นเป็นกรม ล่าสุด นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงบทบาทและหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวของไทยให้เป็นอย่างมีระบบ ครอบคลุมในหลากหลายมิติ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
นางอุรีรัชต์ กล่าวว่า กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้พยายามยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการเสริมสร้างโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศ ผ่าน “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา” (Development Cooperation) โดยใช้ “การทูตนำการพัฒนา” ไปสู่ประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ความร่วมมือกับไทย โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการดำเนินงานด้านการทูตเพื่อการพัฒนาในหลากหลายสาขา ได้แก่ สาธารณสุข เศรษฐกิจ การศึกษา ธรรมาภิบาล เป็นต้น เพื่อเป็นประตูสู่การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเข้าถึงโอกาสในการพัฒนา โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นชนชาติใด
ปัจจุบัน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ แอฟริกา และลาตินอเมริกา ได้ผลักดันการดำเนินงานการทูตเพื่อการพัฒนาในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา การเกษตร สาธารณสุข และวัฒนธรรม ตามนโยบาย “เชื่อมไทยสู่โลกและเชื่อมโลกสู่ไทย” เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่จุดแข็งและศักยภาพของไทยให้นานาประเทศได้รู้จัก เข้าใจและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ และจากประสบการณ์ของไทย ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ
สำหรับในสาขาที่ทางกรมฯ มุ่งเน้นเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาและส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่ 1.ความมั่นคงด้านสุขภาพ 2.ความมั่นคงด้านอาชีพ 3.ความมั่นคงด้านอาหาร 4. ความมั่นคงด้านพลังงาน โดยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง โดยไทยพร้อมที่จะร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ความร่วมมือและหุ้นส่วนด้านการพัฒนาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อคงพลวัตของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ปัจจุบันไทยมีโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในประเทศคู่ร่วมมือต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมรายได้ โอกาสในการพัฒนาอาชีพ ได้แก่ โครงการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีของประเทศกัมพูชา โครงการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ณ ราชอาณาจักรเลโซโท โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ สาธารณรัฐเบนิน โครงการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรในรัฐยะไข่ ของเมียนมา หรือโครงการที่มุ่งเน้นการต่อยอดและพัฒนาผลผลิตโดยใช้โมเดล ความสำเร็จในการพัฒนาสินค้า OTOP ของไทยในประเทศภูฏาน โครงการพัฒนาสินค้า SMEs หรือ ODOP ในสปป.ลาว หรือโครงการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมสินค้า OVOP ที่จังหวัดกำปงจาม ในกัมพูชา เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เช่น โครงการพัฒนาสถาบันพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในเมียนมาที่เมือง Yankin ภาคย่างกุ้งและเมือง Pyigyitagon ภาคมัณฑะเลย์ หรือ โครงการจัดตั้งสถาบันฝีมือแรงงานไทย-กัมพูชา เป็นต้น
นางอุรีรัชต์ กล่าวอีกว่า ไทยยังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อร่วมขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ทั้งในลักษณะทวิภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือใต้-ใต้ และในลักษณะไตรภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือเหนือ-ใต้ ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และมีประเทศ/องค์การระหว่างประเทศแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับไทยอย่างต่อเนื่อง