ทั้งนี้จากเวียดนามมีปัจจัยเอื้อต่อการลงทุนในหลายด้าน ความเคลื่อนไหวของเวียดนามในวันนี้ และมุมมองภาพรวมด้านการแข่งขันจะเป็นอย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ 3 กูรูด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่ฉายภาพให้เห็นอย่างน่าสนใจ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่น่าจับตาในเวลานี้คือ เวียดนามมีประชากรมากกว่าไทยเกือบ 2 เท่า และประชากรวัยทำงานมีสัดส่วนมากกว่าไทยถึง 10% ทำให้มีศักยภาพเพียงพอรองรับการลงทุนได้เป็นจำนวนมาก ขณะค่าแรงตํ่ากว่าไทย โดยค่าแรงขั้นตํ่าของเวียดนามปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 240 บาทต่อวัน ส่วนค่าแรงขั้นตํ่าของไทยล่าสุดในปี 2567อยู่ที่ 330-370 บาทต่อวัน ทำให้เวียดนามได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต
นอกจากนี้ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ของไทยน้อยกว่าเวียดนาม ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ส่วนเวียดนามมี 16 ฉบับกับ 54 ประเทศ ส่งผลให้เวียดนามมีโอกาสการส่งออก และมีตลาดกว้างกว่าไทย และเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากกว่า
ขณะที่เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าเวียดนามมากกว่าไทย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเวียดนามมากขึ้น อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง โดยเศรษฐกิจเวียดนามคาดจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6-7% ในช่วงปี 2564-2567 และนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศต่อเนื่อง
โดยเวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการค้าให้สอดคล้องมาตรฐานนานาชาติ ซึ่งเป็นผลจากการที่เวียดนามลงนาม FTA กับหลายประเทศทำให้เวียดนามผูกพันที่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ ให้สอดคล้องที่สำคัญเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าไทย
“สิ่งที่ไทยจำเป็นต้องเร่งทำคือ ปรับแผนรับมือกับโครงสร้างต้นทุนรวมที่เสียเปรียบเวียดนามโดยเร็ว รวมถึงการยกระดับ Innovation Digital และนำเทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งประเทศไทยยังขาดอยู่ จึงเสนอให้ภาครัฐยกระดับมาตรการ Talent immigration policy เพื่อดึงดูดคนต่างชาติที่เก่งเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งช่วยให้เกิดการสร้างงานรวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะสมัยใหม่ โดยรัฐบาลควรมีมาตรการจูงใจ ที่เหมาะสม เช่น การอำนวยความสะดวกเรื่อง Visa และ Work permit มาตรการทางภาษี มาตรการพำนักอยู่อาศัยที่เหมาะสม เป็นต้น”
สอดคล้องกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ที่กล่าวว่า ปัจจุบันขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในปี 2566 อยู่ในอันดับที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 33 ในปี 2565 ซึ่งผลการจัดอันดับขีดความสามารถปรับตัวดีขึ้นทั้งประสิทธิภาพภาครัฐ และประสิทธิภาพภาคธุรกิจ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอันดับที่เคยทำได้ในปี 2562 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 25 ก็ยังต้องเร่งปรับปรุงอีกมาก และถ้าเปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลกปี 2566 (จาก 134 ประเทศ) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79 ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามที่อยู่ในอันดับ 75 ไทยยังอยู่ในอันดับตํ่ากว่า
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความโดดเด่น ด้วยจุดแข็งที่อยู่ใจกลางอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง รวมถึงบุคลากรที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมสำคัญที่เข้มแข็งที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปี 2565 มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปตลาดโลกอยู่ที่ 371 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ (ไทยส่งออก 287 พันล้านดอลลาร์) และในปี 2566 เวียดนามส่งออกที่ 378 พันล้านดอลลาร์ และในปี 2567 คาดจะอยู่ที่ 389 พันล้านดอลลาร์ โดยเวียดนามมีนโยบายการส่งออกระหว่างปี 2564-2568 ต้องขยายตัว 8-9% ต่อปี และปี 2569-2573 ขยายตัว 5-6% ต่อปี
ตลาดส่งออกหลักของเวียดนามคือ สหรัฐฯ สัดส่วน 30% รองลงมาคือ จีน (18%) ขณะไทย ตลาดส่งออกหลักคือ อาเซียน (25%) ตามด้วยสหรัฐฯ 15% และจีน 12% สินค้าหลักที่ทำรายได้ให้กับเวียดนามคือ โทรศัพท์และอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ เสื้อผ้า รองเท้า ผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารทะเล เป็นต้น
ส่วนการลงทุนในเวียดนามเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ปี 2566 มี FDI ในเวียดนาม 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2567 FDI ในเวียดนามคาดจะเพิ่มเป็น 22 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การลงทุนสะสมในเวียดนาม ณ ปี 2566 อยู่ที่ 4 แสนล้านดอลลาร์ สัดส่วน 50% เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมและแปรรูป รองลงมาคืออสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนอันดับ 1 ยังคงเป็นเกาหลีใต้ สัดส่วน 18% รองลงมาคือ สิงคโปร์ ตามด้วยญี่ปุ่น ส่วนจีนอยู่อันดับ6
“สิ่งที่ไทยเสียเปรียบเวียดนามคือ ต้นทุนในการทำธุรกิจ เวียดนามถูกกว่า ทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้า ราคานํ้ามัน ทำให้ราคาสินค้าไทยสูงกว่าเวียดนาม แต่ไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานคือ ถนน ไฟฟ้า ระบบโลจิสติกส์ที่ดีกว่า”
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน คือ 1.ปรับโครงสร้างต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ 2.ทบทวนการเปิดเสรีการค้าในกรอบที่ทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศทะลักและมีการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยมากเกินไปในบางอุตสาหกรรม
3.ปรับกรอบ GHG emission (เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือน กระจกสุทธิเป็นศูนย์) จากปี 2065 เป็นปี 2050 เพื่อดึงดูดเม็ดเงินต่างประเทศ 4.กระจายตลาดส่งออกเชิงรุกในหลากหลายตลาด ไม่พึ่งตลาดจีนมากเกินไป และ 5.ผลักดันให้เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์สินค้าคาร์บอนตํ่า