จีนแย่งตลาดหนัก อลูมิเนียม 7 หมื่นล้านป่วน จี้พาณิชย์ใช้เอดีสกัด

15 ก.พ. 2567 | 03:51 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 04:04 น.

เริ่มต้นปี 2567 ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมหลายกลุ่มต้องกุมขมับเพราะต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่างจีน ผู้ทรงอิทธิพลในทุกตลาด และในทุกอุตสาหกรรม ผู้ผลิตไทยผลิตสินค้าอะไรออกมาก็แข่งขันอย่างยากลำบาก

จีนแย่งตลาดหนัก อลูมิเนียม 7 หมื่นล้านป่วน จี้พาณิชย์ใช้เอดีสกัด

“อุตสาหกรรมอลูมิเนียม” เป็นอีกกลุ่มที่แบกรับศึกหนักมาตั้งแต่ปีก่อน ทำให้กลุ่มผู้ผลิตอลูมิเนียมเส้นหน้าตัดรวมตัวกัน ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) สินค้า

อลูมิเนียมจากจีน ไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อต้นปี 2566 ครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ จนขณะนี้ปัญหาทวีความรุนแรงจากการนำเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนในไทยหนักขึ้น ความเคลื่อนไหวนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และทิศทางตลอดปี  2567 อุตสาหกรรมอลูมิเนียมที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมายจะไปทิศทางไหน ฟังจากคำสัมภาษณ์ นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม อลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • ปี 66 ยอดผลิตวูบ 16%

นายธีรพันธุ์ กล่าวว่า ภาพรวมปี 2566 ผู้ประกอบการภายในประเทศทั้งอลูมิเนียมแผ่นและอลูมิเนียมอัดขึ้นรูปหรืออลูมิเนียมเส้นหน้าตัด มีการผลิตตํ่ากว่าปี 2565 ถึง 16% โดยผู้ผลิตอลูมิเนียมแผ่น 5 รายที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ มีกำลังการผลิต 410,000 ตัน แต่ผลิตจริงเพียง 300,000 ตัน เท่ากับ 73% ของกำลังผลิตในปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นขายในประเทศ 47% และส่งออก 53% ส่วนใหญ่ส่งออกไปอินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา เป็นหลัก

ส่วนอลูมิเนียมเส้นหน้าตัด มีทั้งผู้หลอมและหล่อบิลเลต รวมถึงผู้รีดอัดขึ้นรูป ซึ่งมีทั้งรายเล็ก กลางและใหญ่ร่วม 45 ราย มีกำลังผลิตรวมประมาณ 300,000 ตัน แต่ผลิตจริงเพียง 178,000 ตัน เท่ากับ 59 % ของกำลังผลิตเท่านั้น แบ่งเป็นขายในประเทศ 54 % และส่งออก 46 % ส่วนใหญ่ส่งออกไปญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เป็นหลัก ดังนั้นการผลิตโดยรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมรวมทั้งแผ่นและเส้นหน้าตัดในปี 2566 มีกำลังการผลิตรวม 710,000 ตัน แต่ผลิตจริง 478,000 ตัน เท่ากับ 67% ของกำลังผลิต มีมูลค่าการตลาดโดยรวมประมาณ 70,000 ล้านบาท

จีนแย่งตลาดหนัก อลูมิเนียม 7 หมื่นล้านป่วน จี้พาณิชย์ใช้เอดีสกัด

สำหรับปัญหาหลักของตลาดในประเทศสำหรับอลูมิเนียมแผ่นมีการหดตัวลง 19% โดยประมาณ เป็นผลกระทบจากการบริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมในประเทศลดลง และในส่วนการส่งออกก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากตลาดสิ่งทอในกัมพูชาและเวียดนามได้มีการย้ายฐานไปยังบังกลาเทศ ทำให้การบริโภคโดยเฉพาะเครื่องดื่มกระป๋อง อลูมิเนียมได้รับผลกระทบพอสมควร นอกจากนี้การสู้รบภายในเมียนมาก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอลูมิเนียมเช่นกัน

ส่วนอลูมิเนียมอัดขึ้นรูป หรืออลูมิเนียมเส้นหน้าตัดนั้น มีปริมาณความต้องการภายในประเทศเท่าเดิม ไม่มีการขยายตัว สืบเนื่องจากตลาดบ้านราคาปานกลางเริ่มอิ่มตัวจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคยังมีความกังวลอยู่ ขณะที่นอกจากจะมีอลูมิเนียมแผ่นและอลูมิเนียมอัดขึ้นรูป หรืออลูมิเนียมเส้นหน้าตัดราคาถูกจากจีนยังมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีสินค้าสำเร็จรูปที่ใช้วัสดุอลูมิเนียมราคาถูก ก็ถูกนำเข้ามาโดยไม่มีมาตรการป้องกันใด ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมเป็นอย่างมาก

สำหรับตลาดต่างประเทศ การส่งออกไปสหรัฐ นอกจากจะมีปัญหาเศรษฐกิจซบเซาแล้ว ยังมีการเพิ่มปริมาณการผลิตอลูมิเนียมในประเทศ จนมีความเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศในปัจจุบัน และได้มีการเปิดไต่สวนตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AC) สำหรับอลูมิเนียมแผ่นบางจากประเทศไทย ทำให้ลูกค้าในสหรัฐลดปริมาณการนำเข้าเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในไทยที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังอเมริกาและยุโรป ก็ลดปริมาณการใช้วัตถุดิบอลูมิเนียมในประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ขณะที่ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมอัดขึ้นรูปหรืออลูมิเนียมเส้นหน้าตัดจากไทย ก็เป็น 1 ใน 15 ประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างถูกสหรัฐไต่สวนตามมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดย 15 ประเทศ ได้แก่ จีน โคลัมเบีย โดมินิกัน เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี มาเลเซีย เม็กซิโก เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม ตุรเกีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ และไทย คาดว่าจะมีผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกไปยังอเมริกาเช่นกัน ส่วนอินเดียเองได้เริ่มมาตรฐานบังคับสำหรับอลูมิเนียมแผ่นบาง ซึ่งต้องผ่านการรับรองมาตรฐานก่อนส่งออกไปยังอินเดีย และยังต้องจ่ายภาษีเพิ่มตามจำนวนที่ส่งออกสำหรับปีถัดไปอีกด้วย

  • ทิศทางปี 67 ทรงตัวและโตตํ่า

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมอลูมิเนียมปี 2567 อยู่ในระดับทรงตัว โดยมีโอกาสขยายตัวค่อนข้างตํ่าเนื่องจากมีปัจจัยลบค่อนข้างมาก เช่น ผู้ผลิตในสหรัฐมีกำลังเพียงพอกับปริมาณความต้องการภายในประเทศ ทำให้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐถูกนำมาขยายวงกว้างกว่า 15 ประเทศ การทุ่มตลาดอลูมิเนียมราคาถูกจากประเทศจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น และความผันผวนของราคาพลังงาน รวมทั้งค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

 ปัจจุบันแผ่นอลูมิเนียมที่ผลิตได้ในไทย มีทั้งแผ่นบางและแผ่นหนา สามารถนำไปผลิตกระป๋องเครื่องดื่ม ฝาเครื่องดื่มสัดส่วนประมาณ 30% เป็นครีบระบายความร้อนในเครื่องปรับอากาศประมาณ 10 % ทำฟอยล์ห่ออาหารประมาณ 5 % ผนังอาคาร หลังคา ฉนวนกันความร้อนในรถยนต์ ท่อนํ้าในหม้อนํ้ารถยนต์ เรือ โครงสร้างรถยนต์ ชิ้นส่วนภายในเครื่องบิน ภาชนะ และอื่นๆ ประมาณ 55 % ส่วนอลูมิเนียมเส้นหน้าตัดนำไปทำกรอบประตูหน้าต่าง รั้ว ประตู พื้นและฝ้าประมาณ 80 % ส่วนชิ้นส่วนรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เรือ แผงโซลาร์ และชิ้นส่วนเครื่องบินและอื่นๆ ประมาณ 20%

  • จีนเข้ามาทุ่มตลาดมากขึ้น

สำหรับปริมาณการนำเข้าอลูมิเนียมแผ่นทั้งแผ่นบางและแผ่นหนาในปี 2566 มีการลดลงถึง 28 % โดยประมาณ เนื่องจากตลาดภายในประเทศโดยรวมปรับตัวลงประมาณ 20 % โดยเป็นการปรับลดปริมาณสินค้าคงคลัง ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด

ดังนั้นสถานการณ์เข้ามาทุ่มตลาดอลูมิเนียมในปี2567จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตในประเทศจีนต้องการเพิ่มปริมาณการส่งออกมายังประเทศไทยมากขึ้นดังนั้นการแข่งขันทางด้านราคาทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนปริมาณการนำเข้าอลูมิเนียมอัดขึ้นรูปหรืออลูมิเนียมเส้นหน้าตัด ในปี 2566 มีการเพิ่มขึ้นถึง 9 % โดยประมาณ ในขณะที่ความต้องการของตลาดภายในประเทศอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 และปริมาณนำเข้าจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 77 % ดังนั้นประมาณการตลาดภายในประเทศสำหรับอลูมิเนียมอัดขึ้นรูปหรืออลูมิเนียมเส้นหน้าตัด ในปี 2567 มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 % โดยประมาณ เนื่องจากโครงการบ้านราคาสูงยังคงไปได้รวมทั้งโครงการต่อเนื่องภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณการนำเข้าจากประเทศจีนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยและปริมาณนำเข้าจากประเทศจีนจะเพิ่มเป็น 80 % โดยประมาณ

แน่นอนว่าปริมาณส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศไทยของผู้ผลิตภายในประเทศจะมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยยะ ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าของมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-damping: AD)  เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ

จากปัญหาดังกล่าวทางกลุ่มผู้ผลิตอลูมิเนียมเส้นหน้าตัดได้รวมตัวกัน ยื่นหนังสือขอมาตรการ AD (Anti-Dumping) ประเทศจีนผ่านทางกองปกป้องและตอบโต้ทางการค้า กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง หลังจากสถานการณ์นำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ความต้องการของตลาดภายในประเทศอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ยุโรป อินเดีย และเวียดนาม ล้วนแล้วแต่ใช้มาตรการ AD (Anti-Dumping) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศแทบทุกประเทศ

 ประกอบกับสินค้าจากจีนประสบปัญหาในการทุ่มตลาดทั้งในอเมริกาและยุโรป ทำให้ต้องระบายสินค้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศเวียดนาม ก็ได้ดำเนินเรื่องมาตรการ AD เรียบร้อยแล้ว ทำให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักของสินค้าจากประเทศจีน เนื่องจากประเทศไทยเรายังไม่มีมาตรการใดๆ ในการป้องกัน ประกอบกับต้นทุนพลังงานของเราอยู่ในระดับสูงเฉพาะค่าซึ่งส่งผลกระทบทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราลดลง จนต้องเริ่มลดกำลังการผลิตลงและอาจจะกระทบต่อการจ้างงานมากกว่าหมื่นชีวิตในอุตสาหกรรมอลูมิเนียมเส้นในอนาคต ถ้ายังไม่มีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน  ซึ่งในอาเซียนไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมอลูมิเนียม และมีคู่แข่งหลักคือผู้ผลิตนอกอาเซียน คือจีน

  • ปัญหาใหม่โผล่หวั่นอุปสรรคการค้า

ปัญหาที่เป็นปัญหาใหม่ที่เกี่ยวเนื่องจากมาตรการ CBAM คือ ผู้ส่งออกอลูมิเนียมไปยังยุโรป ต้องกรอกข้อมูลการผลิตเกี่ยวกับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งของไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2567 ภายในเดือนกรกฏาคม ปี 2567 ซึ่งต้องกรอกข้อมูลอย่างละเอียดและความถูกต้องสูง ซึ่งทางกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมอยู่ในช่วงการเตรียมข้อมูลโดยการสนับสนุนจากทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ในส่วนของสหรัฐเองก็มีร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นแนวทางเดียวกับ CBAM และมีโอกาสสูงที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมการปลดปล่อยก๊าคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านทางใบแสดงสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Certificates) ในช่วงเวลาเดียวกัน CBAM เช่นกัน

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ส.อ.ท.กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า  แนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2567 อยู่ในระดับทรงตัว โดยมีโอกาสขยายตัวค่อนข้างต่ำ สำหรับความคาดหวังที่เอื้อต่ออุตสาหกรรม ยังคาดหวังนโยบายด้านพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ คาดหวังการจัดสรรพลังงานสะอาดสำหรับผู้ส่งออกไปยังยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM และคาดหวังเกี่ยวกับการสนับสนุนจากภาครัฐเกี่ยวกับนโยบาย BCG โมเดล ที่ช่วยให้เกิดการหมุนวนเศษอะลูมิเนียมภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม 

รวมถึงคาดหวังให้รัฐบาลผลักดันนโยบายรถไฟฟ้าให้สนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนผลิตภายในประเทศที่เป็นรูปธรรม มากกว่าการกำหนดเพียงเปอร์เซนต์การผลิตภายในประเทศ ซี่งผู้ผลิตรถไฟฟ้าอาจจะดำเนินการลงทุนผลิตเอง เช่น ชุดแบตเตอรีไฟฟ้า ซึ่งผู้ผลิตภายในประเทศไม่ได้รับประโยชน์เลย และคาดหวังการสนับสนุนการตอบโต้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-damping: AD) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศให้สามารถอยู่รอดและสามารถแข่งขันได้