จีนทุ่มตลาดหนัก อะลูมิเนียมไทยป่วน! จี้เร่งใช้เอดีปกป้อง

10 มี.ค. 2566 | 01:00 น.

ทั่วโลกจับตาความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมจากจีนกันมาตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปัจจุบัน หลังรัฐบาลจีนให้การอุดหนุนการส่งออกอะลูมิเนียม ขณะที่การนำเข้าอะลูมิเนียมของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

จีนทุ่มตลาดหนัก อะลูมิเนียมไทยป่วน! จี้เร่งใช้เอดีปกป้อง

ทั้งนี้สถิติการนำเข้าอะลูมิเนียมของไทยจากจีนสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงกระแสรักษ์โลกและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้อะลูมิเนียมกลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่น่าจับตา

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม

นายธีรพันธุ์  พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายธีรพันธุ์ ฉายภาพอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมของไทยว่า ผู้ผลิตหลักแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผู้ผลิตอะลูมิเนียมแผ่น และผู้ผลิตอะลูมิเนียมอัดขึ้นรูปหรืออะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด สำหรับผู้ผลิตอะลูมิเนียมแผ่นมี 5 รายซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ กำลังการผลิตรวม 4.1 แสนตัน แต่ทำการผลิตจริง 3.87 แสนตัน หรือ 94% ของกำลังผลิตในปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นขายในประเทศ 40% และส่งออก 60 % ส่วนใหญ่ส่งออกไปสหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม เป็นหลัก

ส่วนอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด มีทั้งผู้หลอมและหล่อบิลเลต ตลอดจนผู้รีดอัดขึ้นรูป ซึ่งมีทั้งรายเล็ก กลางและใหญ่ รวม 45 ราย กำลังการผลิตรวมราว 3 แสนตัน แต่ผลิตจริงเพียง 1.84 แสนตัน หรือ 61% ของกำลังผลิตเท่านั้น โดยขายในประเทศ 55% และส่งออก 45% ส่วนใหญ่ส่งออกไปญี่ปุ่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย เป็นหลัก

ดังนั้นการผลิตโดยรวมของอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมไทยในปี 2565 ทั้งอะลูมิเนียมแผ่นและเส้นหน้าตัด มีกำลังการผลิตรวมกว่า 7.1 แสนตัน แต่ผลิตจริงเพียง 5.71 แสนตัน หรือ 80% ของกำลังผลิต มีมูลค่าตลาดรวมประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันแผ่นอะลูมิเนียมที่ผลิตในไทยได้ มีทั้งแผ่นบางและแผ่นหนาคลอบคลุมทั้งอัลลอยด์ 1000, 3000, 4000, 5000, 7000, และ 8000 ซีรีย์ สามารถนำไปผลิตเป็นครีบระบายความร้อนในเครื่องปรับอากาศทั้งในที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ภาชนะ ฟอยล์ห่ออาหาร ผนังอาคาร หลังคา กระป๋องเครื่องดื่ม ฝาเครื่องดื่ม ฉนวนกันความร้อนในรถยนต์ ท่อนํ้าในหม้อนํ้ารถยนต์ เรือ โครงสร้างรถยนต์ ชิ้นส่วนภายในเครื่องบิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังนำไปผลิตเป็นกระป๋องบรรจุเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่แบบไม่รู้จบกันมากขึ้น และในกระแสรักษ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อะลูมิเนียมได้ถูกนำไปทำชิ้นส่วนรถไฟฟ้ามากขึ้นเนื่องจากนํ้าหนักเบา และยังนำอะลูมิเนียมฟอยล์ไปทำชิ้นส่วนภายในแบตเตอรี่รถไฟฟ้าด้วย เนื่องจากมีความสามารถในการนำไฟฟ้าได้ดี ส่วนอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัดที่ผลิตได้คลอบคลุมทั้งอัลลอยด์ 1000, 3000 และ 6000 ซีรีส์ สามารถนำไปทำกรอบประตูหน้าต่าง ชิ้นส่วนรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เรือ แผงโซลาร์ และชิ้นส่วนเครื่องบิน

จีนทุ่มตลาดหนัก อะลูมิเนียมไทยป่วน! จี้เร่งใช้เอดีปกป้อง

  • จีนป่วนตลาดหนักขึ้น

 นายธีรพันธุ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักของอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมในเวลานี้ ยังคงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการทุ่มตลาดอะลูมิเนียมจากประเทศจีน ซึ่งตรงกับรายงานจาก 2021 OECD report ได้มีการเก็บข้อมูลจาก 32 บริษัทที่คลอบคลุมตลาดอะลูมิเนียมทั่วโลกถึง 60% ในปัจจุบันระบุถึงบริษัทอะลูมิเนียมในจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งแต่ 4-7% ของยอดขายในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับบริษัทนอกประเทศจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตัวเองเพียง 0.2% เท่านั้น

จากข้อมูลนี้ทำให้มีการรวมตัวครั้งใหญ่ โดยมีสมาคมผู้ผลิตอะลูมิเนียมของอเมริกา สมาคมอะลูมิเนียมของยุโรป สมาคมอะลูมิเนียมของแคนาดา และสมาคมอะลูมิเนียมของญี่ปุ่นได้ยื่นเรื่องประท้วงผ่านคณะมนตรีการค้าของกลุ่ม G7 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยมีสถิติการนำเข้าอะลูมิเนียมแผ่นจากจีนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีราคาถูก โดยนำเข้าจากจีนสัดส่วนมากกว่า 80% ของการนำเข้าในภาพรวมในปีที่ผ่านมา (กราฟิกประกอบ) ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศต่อเนื่อง และน่าจะรุนแรงมากขึ้นหลังจีนคลายล็อกโควิด-19 และกลับมาผลิตอะลูมิเนียมมากขึ้น

ขณะที่ผู้ผลิตไทยประสบกับปัญหาต้นทุนพลังงานสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

ส่วนสถิติการนำเข้าอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัดจากจีน มีสัดส่วนสูงถึง 70% ของการนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2562 คาดไม่เกิน 1 ถึง 2 ปี สัดส่วนการนำเข้าจากจีนมีโอกาสสูงถึง 80% เช่นเดียวกับอะลูมิเนียมแผ่น หากไม่มีมาตรการป้องกัน

จีนทุ่มตลาดหนัก อะลูมิเนียมไทยป่วน! จี้เร่งใช้เอดีปกป้อง

  • ปกป้องช้าทะลักเข้าไทยพุ่ง

 อย่างไรก็ตามทางกลุ่มผู้ผลิตอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัดได้รวมตัวกัน ยื่นหนังสือขอให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) สินค้าอะลูมิเนียมจากจีน ผ่านกองปกป้องและตอบโต้ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดไต่สวน ซึ่งทางกลุ่มผู้ผลิตมีความกังวลว่า หากปล่อยเวลาช้าไปจะไม่สามารถปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศได้ทันการณ์ เนื่องจากสินค้าจากจีนประสบปัญหาในการทุ่มตลาดทั้งในอเมริกาและยุโรป ทำให้ต้องระบายสินค้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ในส่วนของเวียดนามได้ดำเนินเรื่องมาตรการ AD เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ไทยอีกเป้าหมายหลักของสินค้าจีน ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ในการป้องกัน ประกอบกับต้นทุนด้านพลังงานของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าสูงถึง 5.33 บาทต่อหน่วยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มอาจปรับขึ้นอีก อาจส่งผลกระทบทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงจนต้องลดกำลังการผลิตซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงานมากกว่าหมื่นชีวิตในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมในอนาคตก็เป็นได้

จีนทุ่มตลาดหนัก อะลูมิเนียมไทยป่วน! จี้เร่งใช้เอดีปกป้อง

  • ตื่นตัวภาษีคาร์บอนอียู

นอกจากนี้ นายธีรพันธุ์ยังได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนเข้มข้น ที่ขณะนี้สหภาพยุโรป(อียู) กำลังออกกฎหมายโดยเป็นส่วนหนึ่งของ European Green Deal ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 เรื่องนี้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมได้ตระหนักถึงผลกระทบเรื่องนี้มาตั้งแต่กลางปี 2564 เนื่องจากประเทศไทยไม่มีข้อมูลกลางเกี่ยวกับปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม

ดังนั้นจึงได้ประสานกับทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) มาให้ความรู้กับทางสมาชิก ก่อนการลงนาม MOU กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เพื่อเร่งทำฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม (LCA) รองรับมาตรการ CBAM เฟสแรก ซึ่งยุโรปจะเริ่มบังคับใช้ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 และเก็บค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จริงวันที่ 1 มกราคม 2569

โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องในภาคอุตสาหกรรม เพื่อการจัดทำฐานข้อมูลกลาง Life Cycle Assessment (LCA) หรือ การประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม สำหรับประเทศไทยอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรกมุ่งเน้นหาค่ากลางการปลดปล่อยคาร์บอน จากกระบวนการผลิตโดยตรง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรองรับมาตรการ CBAM ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยค่าคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อย สามารถแบ่งตามช่วงวัฏจักรชีวิต (LCA) ออกเป็น 3 ช่วง คือ การได้มาของวัตถุดิบ ค่าการปลดปล่อยทางอ้อมจากการผลิต (indirect emission) และค่าการปล่อยทางตรงจากการผลิต (direct emission/embedded emission)

ในการบังคับใช้ช่วงแรกจะเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะส่วนการปลดปล่อยทางตรงจากกระบวนการผลิตก่อน โดยทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จะทำการศึกษาในเชิงรายละเอียดและสรุปเป็นค่ากลาง ที่ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของประเทศไทยในขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่าค่ากลางจะสามารถประกาศผลได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2566

ส่วนเฟสที่ 2 เป็นการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามารถเข้าถึงรายการสารขาเข้าและสารขาออก ของแต่ละกระบวนการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมโดยรวม เพื่อนำมาต่อยอดวิเคราะห์หาจุดที่ต้องปรับปรุงพัฒนาในแต่ละกระบวนการ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระบวนการผลิตในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ปี 2608 ต่อไป

“ทางกลุ่มอะลูมิเนียมเราได้พยายามนำพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนพลังงานไฟฟ้าแบบดั้งเดิม และเพิ่มปริมาณการใช้เศษอะลูมิเนียมตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนได้ค่อนข้างมาก”

  • จับตาสหรัฐฯตามอย่างอียู

ขณะที่ในส่วนของสหรัฐฯก็ได้เริ่มร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นแนวทางเดียวกับ CBAM และมีโอกาสสูงที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมการปลดปล่อยก๊าคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านทางใบแสดงสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Certificates) ในช่วงเวลาเดียวกับ CBAM เช่นกัน

ดังนั้นทางกลุ่มอะลูมิเนียมได้มีมาตรการรองรับในกรณีที่ค่ากลางการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ทางกลุ่มจะสามารถประเมินและเปรียบเทียบค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับผู้นำเข้าจากประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกไปยังยุโรปและอเมริกา ตลอดจนผู้ผลิตในยุโรปและอเมริกาเอง ว่าไทยมีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบเท่าไร ต้องนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตตลอดจนการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบต้นทางเพื่อให้ค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าคู่แข่งหรือไม่

ส่วนในกรณีที่ต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียม ทางกลุ่มฯยินดีที่จะทำการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตบนแพลตฟอร์ม FTIX ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมไทย ซึ่ง FTIX ได้เปิดตัวในช่วงเวลาเดียวกันกับทางกลุ่มอะลูมิเนียมได้ทำการเซ็นต์ MOU กับทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)เมื่อช่วง กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3868 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2566