KEY
POINTS
ภาคการส่งออกเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม เดือนแรกของปี 2567 ส่งสัญญาณบวก มีมูลค่าส่งออก 22,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (784,580 ล้านบาท) ขยายตัวถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 1-2% จากปี 2566 มีมูลค่าส่งออก 284,651.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 9.80 ล้านล้านบาท) ติดลบ 1%
ข้อมูลเดือนมกราคม 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 10.3% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์ยาง, อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เป็นต้น ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น
ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 9.2% โดยสินค้าที่ขยายตัว เช่น ข้าว ,ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป, ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, นํ้าตาลทราย เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาคการส่งออกยังมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)ของไทยสูงถึง 65% ช่วง 1-5 ปีนับจากนี้ มองว่าสินค้าส่งออกของไทยในกลุ่มดาวรุ่งจะเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่, ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยั่งยืน, สินค้าเกษตรคาร์บอนตํ่า, รถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และอาหารสุขภาพเพื่อผู้สูงวัย เป็นต้น
ส่วนสินค้าดาวร่วงอยู่ในกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปภายใน จากโลกมุ่งสู่รถใช้พลังงานสะอาด, เหล็กจากผลกระทบเหล็กนำเข้า และพลาสติก จากจีนเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศลดการนำเข้าจากไทย
ขณะที่จีดีพีของไทยในปี 2567 คาดจะขยายตัวได้ 3.0% และการส่งออกขยายตัวได้ 2.5% โดยจีดีพีไทยในปีนี้มีปัจจัยภายในที่เป็นปัจจัยบวก ได้แก่ คาดการณ์นักท่องเที่ยวจะเข้ามามากกว่าปี 2566, รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ, ส่งออกขยายตัวเป็นบวก ส่วนปัจจัยลบได้แก่ อัตราดอกเบี้ยสูง, ต้นทุนการผลิตผู้ประกอบการสูง และศักยภาพการแข่งขันสินค้าไทยตํ่าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม
ส่วนปัจจัยบวกจากภายนอกได้แก่ อัตราดอกเบี้ยโลกมีทิศทางลง ทำให้เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อการส่งออก, เศษฐกิจอาเซียนและอินเดียคู่ค้าของไทยขยายตัว ปัจจัยลบได้แก่ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว, สงครามในตะวันออกกลางขยายวง ลดทอนการบริโภค เป็นต้น