“เหล็กไทย” ร้องรัฐปกป้องเข้ม ปี 68 จีนจ่อทุ่มตลาดชุดใหญ่

17 ต.ค. 2567 | 21:30 น.

ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินความต้องการใช้เหล็กของไทยปี 2567 จะอยู่ที่ 15.7 ล้านตัน หดตัว -3.8% เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากยังถูกกดดันจากจำนวนการผลิตรถยนต์ที่อาจอยู่ในระดับตํ่าเพียง 1.62 ล้านคัน หรือ -11.7%

“เหล็กไทย” ร้องรัฐปกป้องเข้ม ปี 68 จีนจ่อทุ่มตลาดชุดใหญ่

ส่วนทิศทางภาคการก่อสร้าง แม้ภาครัฐจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ในช่วงที่เหลือของปีปฏิทิน แต่จากการหดตัวค่อนข้างมากในครึ่งปีแรก มูลค่าก่อสร้างติดลบถึง -11.2% จึงมีโอกาสที่ภาคก่อสร้างในปี 2567 จะทำได้เพียงอยู่ในระดับทรงตัวจากปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กยังอยู่ในอาการน่าห่วงโดยเฉพาะปี 2568 แม้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้เหล็กปีหน้าจะอยู่ที่ 16.0 ล้านตัน ฟื้นตัวเล็กน้อย +2.1% ตามทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปลายนํ้าก็ตาม แต่ยังต้องต่อสู้กับปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศ

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ผู้บริหาร 2 สถาบันเหล็ก “นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ “นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย” ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ถึงความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเหล็กปี 2568 และสถานการณ์เหล็กจากจีนที่ถูกจับตาเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เหล็กล้นตลาดอยู่ในขณะนี้

มาตรการปกป้องเอาไม่อยู่

นายบัณฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันยังมีสินค้าเหล็กจากต่างประเทศส่งเข้ามาจำหน่ายในลักษณะทุ่มตลาดต่อเนื่อง แม้กระทรวงพาณิชย์ได้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) แล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่นำเข้ามา ยังมีการหลบเลี่ยงภาษีเอดีในรูปแบบต่าง ๆ เช่น มีการดัดแปลงการผลิตเหล็กด้วยการเจือสารอัลลอยด์เพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรไม่ให้อยู่ในข่ายถูกใช้มาตรการ AD เมื่อดำเนินการไต่สวนการหลบเลี่ยงด้วยมาตรการ AC (มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงการทุ่มตลาดและการอุดหนุน) ก็ลดลงในระยะเวลาหนึ่ง แต่พบมีวิธีการหลบเลี่ยงมาตรการ AC ไปในรูปแบบอื่น ทำให้มีการทุ่มตลาดกลับมาอีก

บัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเหล็กจากหลายประเทศ ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากจีน สัดส่วนประมาณ 30% ซึ่งการนำเข้าเหล็กจากจีนนับวันจะเพิ่มมากขึ้น

สำหรับจีนในแต่ละปี จะมีกำลังผลิตเหล็กมากกว่า 1,000 ล้านตัน ในจำนวนนี้ใช้ในประเทศราว 900 ล้านตัน ความต้องการใช้เหล็กของจีนกำลังลดน้อยลง จากระดับสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2563 หลังจากนั้นความต้องการใช้ได้ลดลงปีละประมาณ 20-30 ล้านตัน แต่การผลิตเหล็กดิบยังคงอยู่ในระดับที่สูง จึงมีผลผลิตส่วนเกินส่งออกปีละกว่า 100 ล้านตันและคาดเหล็กจีนจะยังคงถูกส่งมาทุ่มตลาดอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยมากขึ้นต่อไป

อสังหาฯจีนใช้เหล็กลดลง

สำหรับความต้องการใช้เหล็กเพื่อการก่อสร้างของจีน ที่คิดเป็นสัดส่วน 60% ของความต้องการใช้เหล็กทั้งหมด จากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความต้องการใช้เหล็กของจีนลดลง โดยครึ่งแรกปี 2567 ลดลงประมาณ 20% ทำให้การก่อสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2567 ลดตํ่าลงถึงระดับที่ตํ่าที่สุดในรอบ 10 ปี และจนถึงขณะนี้ยังมองไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ การส่งออกเหล็กของจีนอยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยจีนส่งออกเหล็กมากถึง 54.9 ล้านตัน หากยังมีการส่งออกในระดับนี้ ทั้งปี 2567 คาดปริมาณรวมจะสูงกว่า 100 ล้านตัน เอเชียเป็นภูมิภาคหลักในการส่งออกของจีน สัดส่วนประมาณ 70% ของการส่งออกทั้งหมด

จากการส่งออกจำนวนมากจากจีนมายังเอเชียในราคาต่ำ ประเทศต่าง ๆ จึงได้พิจารณาใช้มาตรการทางการค้ากับการส่งออกสินค้าเหล็กของจีน ตัวอย่างเช่น เวียดนามได้เริ่มการไต่สวนการทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนและเหล็กเคลือบสังกะสีจากจีน เช่นเดียวกันกับมาเลเซียที่ได้เริ่มการไต่สวนการทุ่มตลาดแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก

ทั้งนี้ไม่เพียงแต่รัฐบาลในภูมิภาคอาเซียน แต่รัฐบาลในหลายประเทศ เช่น ตุรกี สหภาพยุโรป และบราซิล ต่างเริ่มต้นการไต่สวนการทุ่มตลาด เพื่อกำหนดมาตรการทางการค้ากับ สินค้าเหล็กจากจีน

สำหรับปี 2568 ที่มีการคาดการณ์ความต้องการเหล็กไทยเพิ่มขึ้นราว 2% อุตสาหกรรมเหล็กไทยจะสามารถใช้อัตราการใช้กำลังผลิตเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กจีนว่าจะจัดการกับปัญหาผลผลิตส่วนเกินที่มีปริมาณมากมายอย่างไร

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กจีนในภาพรวมก็ประสบภาวะขาดทุนจาก Oversupply อีกส่วนหนึ่งจะขึ้นกับความช่วยเหลือการต้านทานการทุ่มตลาดเพื่อลดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่ภาครัฐได้ดำเนินการมาแล้วและที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึง การส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือการปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยเองและความร่วมมือในซัพพลายเชน ก็อาจจะช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยเพิ่มอัตราการใช้กำลังผลิตขึ้นได้

จีนไม่แผ่วสถิติส่งออกยังพุ่ง

สอดคล้องกับ นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า ในปี 2566 จีนมีปัญหาเรื่องการบริโภคภายใน แต่ก็ไม่ได้ลดการผลิตเหล็กลง โดยปี 2566 จีนผลิตเหล็กถึง 1,019 ล้านตัน และส่งออกมากถึง 93.4 ล้านตัน เพิ่มร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปี 2565 มาถึงปีนี้ (2567) ช่วงครึ่งปีแรก การผลิตเหล็กของจีนยังสูงถึง 530 ล้านตัน และมีการส่งออกสะสมถึง 54.87 ล้านตัน

วิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

“ปี 2566 จีนส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้น 39% พอมาถึงครึ่งปีแรกของปี 2567 ก็ยังเพิ่มขึ้นจากปี 2566 อีก 22.7% ทำให้สถานการณ์เหล็กล้นตลาดมาก เรายังไม่เห็นนโยบายการลดการส่งออกที่เป็นรูปธรรมจากจีน ที่ดูเหมือนว่ากำลังมีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน เนื่องจากที่ผ่านมานับ 20 ปี จีนมีการขยายโรงงานเหล็กเพิ่มขึ้น

แต่เมื่อถึงจุดปัจจุบันที่ GDP ของประเทศจีนไม่ได้โตอย่างที่คิดไว้ ก็จะเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด ทำให้ต้องเร่งการส่งออก ดังนั้นจึงก่อให้เกิดปัญหาเหล็กล้นตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ปัญหานี้มีน้อยในตลาดยุโรป และอเมริกา ที่มีมาตรการปกป้องการค้าที่เข้มงวด”

สำหรับการรับมือของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนก็มีหลายมาตรการ ทั้งในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล้วนใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กจากจีน ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา มาเลเซียประกาศห้ามตั้งโรงงานเหล็กใหม่ ๆ ชั่วคราว เพื่อไม่ให้กำลังการผลิตล้นตลาดลามกระทบอุตสาหกรรมเหล็กของมาเลเซีย

 “การส่งสินค้าจีนมายังกลุ่มอาเซียนจนล้นตลาด ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แทบจะพูดได้ว่าทุกๆประเทศในกลุ่มอาเซียนเจอสถานการณ์เดียวกัน แต่ละประเทศก็พยายามบรรเทาผลกระทบด้วยมาตรการปกป้องจากสินค้าทุ่มตลาด และสินค้าหลีกเลี่ยงภาษีต่าง ๆ รวมถึงการควบคุมคุณภาพสินค้าให้เข้มงวดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค”

ไทยหวั่นอเมริกา-ยุโรปใช้มาตรการปกป้อง

นอกจากสินค้าส่วนเกินแล้วยังมีปรากฏการณ์การย้ายฐานการผลิตส่วนเกินมายังกลุ่มประเทศอาเซียนในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสินค้าเหล็กจากประเทศจีนถูกสหรัฐอเมริกา และยุโรปตอบโต้ทางการค้า จึงทำให้มีการย้ายโรงงานมาในกลุ่มอาเซียน กรณีนี้อาจจุดประเด็นให้ประเทศไทยและอาเซียนถูกสหรัฐอเมริกาและยุโรปใช้มาตรการปกป้องทางการค้าในอนาคต เนื่องจากถูกมองว่าเหล็กที่ผลิตจากโรงงานจีนที่ตั้งในอาเซียนคือส่งออกสินค้าจีนทางอ้อมอีกด้วย

ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า  ปัจจุบัน มีหลายโรงงานที่ทยอยปิดตัวลงไปตามที่เป็นข่าวที่ปรากฏและจะต่อเนื่องถึงปีหน้า  ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมและแรงงานตามมา โรงงานไทยที่ประสบผลการขาดทุนก็จะเกิดปัญหา NPL ทำให้ระบบการเงินและระบบธนาคารต้องแบกรับภาระ ซึ่งหากสามารถทำให้การนำเข้าลดลง ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ โดยต้องมีมาตรการการปกป้องทางการค้าที่เข้มข้นเหมือนกับหลาย ๆ ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ส่วนกลุ่มโรงงานที่เข้ามาเริ่มสร้างตั้งใหม่จะผลิตสินค้าที่เราผลิตได้เองอยู่แล้วหรือเป็นสินค้าที่ทับซ้อนกันเพราะเป็นการสร้างปัญหาการ over capacity ขึ้นเพิ่มเติมไปอีก ผู้นำเข้าเองจากที่เคยได้กำไรจากการนำเข้าสินค้ามาขายก็ขายได้น้อยลงเนื่องจากมีโรงงานจากต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานและผลิตจำหน่ายให้กับตลาดโดยตรงแล้วในขณะนี้

สำหรับการผลิตเหล็กของประเทศไทยในครึ่งปีแรกของปี 2567 ผลิตได้เพียง 3.195 ล้านตัน ขณะที่ก่อนหน้ามีโควิดในปี 2559-2561  เคยผลิตได้ถึงมากกว่า  9 ล้านตันต่อปี ปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กที่เกิดขึ้นในอดีตคือเกิดขึ้นจากสัดส่วนการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และมองว่าปริมาณการนำเข้าเหล็กจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ไป

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,037 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2567