ทั้งนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อย และชาวนาถูกสังคมระบุว่าเป็นอีกต้นตอที่สำคัญของปัญหา จากมีเกษตรกรลอบเผาไร่อ้อย และเผาตอซังข้าวเกิดขึ้นเป็นระยะ ที่ผ่านมาปฏิกิริยาของชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเริ่มมีการขับเคลื่อนผ่านสมาคมและสมาพันธ์ รวมถึงคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่พูดถึงปัญหาเหล่านี้มานานนับปี
วีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย
ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (กอน.) และ นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สองตัวแทนชาวไร่อ้อยถึงมุมมองปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อเรียกร้องและความเคลื่อนไหวนับจากนี้
นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง กล่าวว่า การเผาอ้อย หรืออ้อยไฟไหม้กลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งขัดแย้งกับงานวิจัยของ กทม.เมื่อปี 2566 ที่พูดถึงแหล่งที่มาของปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่ามาจากรถยนต์ รถบรรทุกที่ใช้นํ้ามันดีเซลเป็นหลักในสัดส่วนมากถึง 51% รองลงมา มาจากภาคอุตสาหกรรม 21% (กราฟิกประกอบ)
สอดคล้องกับงานวิจัยของกรรมาธิการวุฒิสภาในปีเดียวกัน ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นสัดส่วน 6% ที่มาจากการเผาในที่โล่งแจ้งตามงานวิจัยของกทม.นั้น มาจากการเผาไร่ข้าวโพด 6% นาข้าว(เผาซัง/ฟางข้าว) 2.3% พืชอื่น ๆ 3% การเผาไหม้ในพื้นที่ป่า 66% และเผาไหม้จากไร่อ้อย 2%
นอกจากนี้จากงานวิจัย SDG MOVE ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังระบุอีกว่า ที่มาของมลพิษทางอากาศเกิดจากควันท่อไอเสียรถยนต์มากถึง 52% และมาจากการเผาในที่โล่งแจ้ง 35% มาจากการเผาพื้นที่ป่า 69% และฝุ่นจากการก่อสร้าง 8%
“จากผลวิจัยของทั้ง 3 สำนักนี้ สะท้อนได้ชัดเจนว่า การเผาไร่อ้อยไม่ใช่ต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดฝุ่นPM 2.5 และเป็นการยืนยันชัดเจนว่า การเผาจากไร่อ้อยเป็นแค่ส่วนประกอบเล็ก ๆ ที่มีในฤดูกาลตัดอ้อยระยะสั้นเท่านั้น”
นายวีระศักดิ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเจาะจงไปที่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าที่จะมามุ่งปรักปรำชาวไร่ จนชาวไร่อ้อยไม่สามารถประกอบอาชีพได้
ล่าสุดชาวไร่อ้อยได้โฟกัสและทวงถามไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่ได้ของบประมาณช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานในอัตราตันละ120 บาท ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอไปยังครม.แล้วแต่กลับยังไม่มีการพิจารณาในวาระ ซึ่งเรื่องนี้ชาวไร่อ้อยได้เสนอไปตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเปิดหีบอ้อย (เปิดหีบเมื่อ1 ธ.ค. 2567) มาจนบัดนี้ ครม.ก็ยังไม่อนุมัติ
“การตัดอ้อยสดแทนการเผาอ้อยจะมีต้นทุนที่สูงกว่า หากมีการช่วยเหลือส่วนนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่องก็จะมีแรงผลักดันให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดได้มากขึ้น”
ส่วนกรณีหากแก้ปัญหาไม่ได้ และปล่อยให้สังคมเข้าใจผิดว่าการเผาอ้อยคือต้นเหตุหลักในการสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 จนชาวไร่อ้อยกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาสังคมอย่างทุกวันนี้ จะเป็นการกดดัน และมีแนวโน้มว่าชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกว่า 2 ล้านราย จะออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหานี้ให้ตรงจุด และกำหนดเป็นวาระแห่งชาติในระยะยาวทั้งระบบ ในพืชทุกชนิดไม่ใช่แต่เฉพาะไร่อ้อย
สอดคล้องกับนายนราธิป อนันตสุข ที่กล่าวว่า เดิมทั่วประเทศจะมีการเผาอ้อยราว 70% ของปริมาณอ้อยแต่ละปีที่ผลิตได้ทั่วประเทศ ต่อมาช่วงหลังปี 2562 และปี 2563 ชาวไร่มีทิศทางลดอ้อยไฟไหม้ลงโดยวิธีการในระบบคือ ให้โรงงานหักราคาอ้อยไฟไหม้ลง เช่นหักตันละ 20 บาท เพิ่มเป็นตันละ30 บาท เพื่อเป็นการลงโทษชาวไร่อ้อย แล้วนำเงินส่วนที่หักนี้ไปชดเชยโดยไปเพิ่มราคาให้กับคนที่ตัดอ้อยสด
นราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย
ต่อมามาตรการหักราคาอ้อยไฟไหม้ก็ยังไม่จูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด เนื่องจากต้นทุนตัดอ้อยสดนั้น สูงกว่าอ้อยเผาแล้วตัดมากถึง 5 เท่า ทำให้ตั้งแต่ปี 2562-2563 เป็นต้นมารัฐบาลได้สนับสนุนการตัดอ้อยสดตลอดมาที่ 120 บาทต่อตัน พอมาถึงปีฤดูการผลิต 2566/2567 ภาพรวมเกษตรกรก็ยังเข้าใจในหลักการเดียวกันว่า ใครก็ตามที่ตัดอ้อยสดรัฐบาลจะสนับสนุนเหมือนเดิม จนสุดท้ายมาถึงทุกวันนี้ที่จะเริ่มมีการปิดหีบอ้อยแล้ว ก็ยังไร้วี่แววที่จะได้รับเงิน 120 บาทต่อตันอ้อย สำหรับรายที่ตัดอ้อยสด
หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยกล่าวอีกว่า สุดท้ายแล้วหากยังไม่มีความคืบหน้าการจ่ายค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน เชื่อว่าชาวไร่อ้อยทั่วประเทศคงรวมตัวกันไปกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเรียกร้องแนวทางการช่วยเหลือตามที่เคยสนับสนุนตัดอ้อยสดแบบที่ผ่านมา เพราะมาตรการนี้ที่ผ่านมาสามารถช่วยลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ได้
“หากรัฐบาลไม่ช่วยในเรื่องนี้ เกษตรกรก็คงไม่มีแรงจูงใจ เพราะต้นทุนการตัดอ้อยสดนั้นสูงมาก อีกทั้งทุกวันนี้ชาวไร่อ้อยก็กลายเป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นต้นตอหลักในการสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งที่ผลการวิจัยจากสำนักต่าง ๆ ที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็พิสูจน์แล้วว่าปัญหาหลักมาจากตรงไหน” นายนราธิป กล่าว