ก่อนอื่นก็ต้องขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้มาจากภาคเอกชน และไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน แต่ก็ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร ที่มีหน้าที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของประชาชนไทยกว่า 60 ล้านคน
การหมุนเปลี่ยนแบบกลับขั้วจากฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาล และใจกว้างที่จะเอื้อมไปจับมือร่วมกับพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเก่า อย่าง พรรคพลังประชารัฐ และ พรรครวมไทยสร้างชาติ การเสียสัตย์เพื่อชาติของ พรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ก็ทำเอาคนจำนวนไม่น้อยเกิดอาการประหลาดใจ และก็มีหลายคนที่อกหัก จนถึงขั้นเจ็บแค้นแบบไม่เผาผีกันเลยทีเดียว
แต่ก็เอาเถอะ การเมืองมันเป็นลูกกลม ๆ ยากจะทำนายทายทักให้ถูกต้อง เมื่อการเจรจาลงตัว ทุกอย่างก็สมประสงค์นั่นเอง
แต่ความน่าสนใจของรัฐบาลเศรษฐา กลับไปอยู่ที่เรื่องราวของนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ที่รัฐบาลจะใช้ระบบบล็อกเชน (Blockchain System) จัดการนำเงินดิจิทัลโอนเข้าไปในกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือที่เรียกกันเก๋ ๆ ว่า Digital Wallet ใบใหม่ของประชาชนสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 56 ล้านคน คิดคร่าว ๆ ก็รวม ๆ แล้วจะใช้เงินทั้งสิ้น 560,000 ล้านบาทถ้วน
แต่ดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทยยังคิดรายละเอียดของนโยบายดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น ไม่ว่าจะใช้แหล่งเงินจากที่ไหน กระบวนการแจกจ่ายจะเป็นเช่นไร ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีคำตอบที่สะเด็ดน้ำจากผู้เกี่ยวข้องแม้แต่น้อย
อย่างที่รู้กันว่า นโยบายนี้ถูกจุดพลุขึ้นจากพรรคเพื่อไทย ในช่วงก่อนการเลือกตั้งไม่นาน ซึ่งเชื่อกันว่า การเข็นนโยบายนี้ออกมาขาย จะเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ที่จะพาพรรคเพื่อไทยไปสู่สถานการณ์ “แลนด์สไลด์”
อย่างไรก็ดี แม้จะเชื่อกันว่า กระสุนนัดนี้น่าจะเข้าเป้า แต่พรรคเพื่อไทยกลับเสียแชมป์ให้กับพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด
แต่แม้ว่า พรรคเพื่อไทยผู้มาเป็นลำดับที่ 2 จะพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ดูเหมือนว่า เสียงทวงสัญญา เรื่อง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ยังคงดังกระหึ่มไปทั่วประเทศ เหมือนว่าพรรคเพื่อไทยได้เสียงมาเป็นลำดับที่ 1
จุดนี้เองที่ผู้เขียนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พรรคเพื่อไทย และ พรรคร่วมรัฐบาล คงอยู่ในอาการท้องไส้ปั่นป่วน และกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าจะถอยกลับลำไม่ทำแล้ว ก็คงโดนด่าเละเทะ หรือ อาจจะเลยเถิดไปถึงการบอยคอตไม่เลือกพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งคราวหน้าก็เป็นได้
แต่จะฝืนทำต่อไป ก็คงต้องคิดสะระตะให้หนักหน่วงเป็นแน่แท้ ไหนจะเรื่องแหล่งเงินที่นำมาใช้ในการแจก ไหนจะเรื่องเงื่อนไขในการแจก ไหนจะเรื่องระบบการแจก และการใช้เงิน ใช่ว่าเป็นเรื่องง่ายเสียที่ไหน
การชั่งน้ำหนักระหว่าง “การรักษาคำมั่นที่ให้ไว้ตอนหาเสียง กับผลกระทบของนโยบาย ที่มีต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาล” กลายเป็นเรื่องหนักอกหนักใจ ของบรรดาผู้รับผิดชอบนโยบายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ใช่ว่า นโยบายดังกล่าวจะเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายเสียเมื่อไร การแจกเงินมีมาตั้งแต่ยุคเกือบ 50 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ รัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ประดิษฐ์นโยบาย “เงินผัน” ที่มุ่งเป้าประสงค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างงานในชนบท หากแต่จะไม่คิดว่า นโยบายนี้หวังผลทางการเมืองก็เห็นจะไม่ได้
การจัดสรรงบประมาณลงไปยังฐานเสียงในชนบทของพรรคกิจสังคม ทำให้รัฐบาลคึกฤทธิ์ ดังเป็นพลุแตกมาแล้ว
แต่เมื่อคึกฤทธิ์ไป รัฐบาลหลังจากนั้นเกือบทุกคณะ ก็ถูกควบคุมการจัดการบริหารเศรษฐกิจโดยบรรดาขุนนางข้าราชการ หรือ เหล่าเทคโนแครต (Technocrats) ที่ฝังตัวอยู่ในสภาพัฒน์ฯ และ กระทรวงการคลัง ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์สายอนุรักษ์นิยม
นโยบายการโปรยเงินบนเฮลิคอปเตอร์กลายเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” และก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีคลัง ที่เข้มงวดในเรื่องของนโยบายการคลัง ไม่ว่าจะเป็น ปู่สมหมาย ฮุนตระกูล ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร คุณธารินทร์ นิมมานเหมินห์ เป็นอาทิ
บรรดารัฐมนตรีคลังที่มาจากสายเศรษฐกิจ หรือ สายการเงินต่างส่ายหน้า ไม่เอาด้วยกับนโยบายยัดเงินสดใส่มือ เพราะต่างก็ไม่เชื่อว่า การกระทำเช่นนั้น จะก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวแต่อย่างใด เว้นแต่การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น และรังแต่จะทำให้ประชาชนเสียนิสัยอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
เมื่อมีหัวก็ต้องมีก้อย ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลที่มีพื้นฐานของแนวความคิดประชานิยม ก็เชื่ออย่างเต็มใจว่า นโยบายการแจกเงินจะทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ และนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคัก รวมทั้งได้ผลลัพธ์ทางการเมือง ตามที่หวังเป็นกระสุนแถม
หัวขบวนที่นำนโยบายประเภทนี้ไปใช้คงหนีไม่พ้น รัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น
รัฐบาลถัดจากนั้น ก็เริ่มทำตาม ๆ กันมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเช็ค 2,000 บาท นโยบายจำนำข้าว หรือ นโยบายคนละครึ่ง ของ รัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และ รัฐบาลประยุทธ์ ตามลำดับ
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า นโยบายการแจกเงินดิจิทัล ของรัฐบาลเศรษฐา มิใช่เรื่องที่ผิด หรือ น่าขัดขวางแต่ประการใด อย่างน้อยที่สุด นโยบายดังกล่าว ก็ได้รับอาณัติจากประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคเพื่อไทย ให้มาเป็นผู้นำ เอานโยบายที่ประกาศไว้มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
แต่ก็แน่นอนว่า ประชาชนส่วนใหญ่มิใช่นักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจมหภาค ที่จะคอยวิเคราะห์ผลกระทบสุทธิของนโยบายว่า เป็น บวก หรือ ลบ การนำเอาเงินจำนวนกว่า 500,000 ล้านบาท ไปใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ย่อมเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอนอย่างยากที่จะหาใครไม่ยอมรับ
อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ น่าจะขยับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ต้นทุนของนโยบายดังกล่าวมากน้อยขนาดไหน เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่าประมาณร้อยละ 15 ของงบประมาณรายจ่ายแผ่นดินประจำปี พ.ศ. 2567 จะเอามาจากแหล่งเงินใด
และหากนำมาใช้ในการกระตุ้นการบริโภคแล้ว ค่าเสียโอกาสที่จะนำเงินจำนวนเท่ากันไปทำอย่างอื่นเท่ากับเท่าใด และการกระชากอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศ โดยมิได้เร่งการลงทุน หรือ การขยายกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มขนาดของอุปทานมวลรวมภายในประเทศ จะก่อให้เกิดผลเช่นไร เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของระบบเศรษฐกิจไทย จะเผชิญกับอะไร หากเดินหน้าโครงการนี้ คำถามเหล่านี้กำลังรอคำตอบจากรัฐบาลอยู่