เหรียญอีกด้านของนโยบายจากผลิตผลสังคมนิยมว่าที่รัฐบาล

01 ก.ค. 2566 | 02:30 น.

เหรียญอีกด้านของนโยบายจากผลิตผลสังคมนิยมว่าที่รัฐบาล : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิดก็หลักสี่ (.ศูนย์) โดย... รศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3901

นางมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศสหราชอาณาจักร ผู้ได้รับการขนามนามว่า “หญิงเหล็ก” เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยมว่า

“สังคมนิยมหาได้ชอบที่จะให้ประชาชนลงมือด้วยตนเองเพื่อประโยชน์ของพวกเขา แต่กลับนิยมชมชอบให้ผู้คนเหล่านั้นต้องพึ่งพาอาศัยรัฐ คุณจะไม่มีทางที่จะสร้างสังคมที่ยิ่งใหญ่ด้วยวิธีการเช่นนั้นอย่างแน่นอน”      

แต่บทสัมภาษณ์ดังกล่าวก็มิใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะทุกคนต่างรู้ว่า นางมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมมาอย่างยาวนาน และมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยมเต็มรูปแบบ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า “มนุษย์จะดีจะร้ายก็ขึ้นกับการกระทำของตนเอง”

และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นเดียวกันที่บรรดาชนชั้น “แรงงาน” ที่พำนักบนเกาะอังกฤษต่างก็ตราหน้าแทชเชอร์ว่า เป็นสตรีผู้มีจิตใจอำมหิต และเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เมื่อทราบข่าวว่า นางมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ถึงแก่อนิจกรรม ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองลิเวอร์พูล เมื่อ ค.ศ. 2013

บทเรียนการต่อสู้ของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยม และแนวคิดสังคมนิยมของประเทศสหราชอาณาจักร ถือว่าเป็นต้นตำรับการเรียนรู้ทางการเมืองที่ใช้ระยะเวลาอย่างยาวนานจนตกผลึก และกลายเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยเริ่มก่อตัวบนหลักการของอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างประเทศไทย 

ขณะที่ พรรคก้าวไกล ประกาศตนว่า เสรีภาพ คือ หมุดหลักของระบอบประชาธิปไตย แต่กลับโอบอุ้มระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยนโยบายสวัสดิการสังคมจากมุมมองของลัทธิสังคมนิยม แม้จะมิใช่เรื่องแปลก แต่ก็มีความ “แปร่ง” อยู่ 

ขณะที่พรรคก้าวไกลยืนยันถึงเสรีภาพทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่อนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างเสรี หรือ การสนับสนุนการแสดงออกซึ่งเสรีภาพที่ขัดต่อระเบียบต่าง ๆ เช่น การบังคับแต่งกายด้วยชุดนักเรียน เป็นต้น 

แต่การขับเคลื่อนระบบทุนนิยมที่เน้นเสรีภาพทางเศรษฐกิจกลับมุ่งลงโทษผู้คนที่ขยันขันแข็ง จนสร้างความมั่งคั่งส่วนตนด้วยการเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่งในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยคำโปรยจั่วหัวว่า “เพื่อความเท่าเทียม” หรือ “ลดความเหลื่อมล้ำ”

นางมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ เคยอภิปรายเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างทางเศรษฐกิจของนโยบายสังคมนิยมไว้ว่า นโยบายสังคมนิยมจะช่วยลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมได้จริง แต่ก็ด้วยการทำให้คนรวยกลายเป็นคนจน และคนจนก็จะยากจนกว่าที่เคยเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งต่อข้อความเห็นของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านการกำหนดนโยบายที่ไร้เดียงสาของบรรดานักสังคมนิยมทั้งหลายมาอย่างยาวนาน

ในฐานะนักวิชาการที่เฝ้าติดตามนโยบายสาธารณะ ที่กระทบต่อภาคเอกชนและระบบเศรษฐกิจมาพอสมควร ผู้เขียนค่อนข้างกังวลใจต่อแนวคิดการกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคมของพรรคก้าวไกล ที่ขับเคลื่อนด้วยปรัชญาความเท่าเทียมและการลดความเหลื่อมล้ำ 

ขณะที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับปรัชญาดังกล่าวอย่างไม่มีข้อกังขา แต่กลับสับสนฉงนงงงวยกลับการนำปรัชญาเหล่านี้ ไปแปรเปลี่ยนเป็นนโยบายพรรคการเมือง เพื่อนำไปปฏิบัติ บังคับใช้ผ่านกลไกขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด และนโยบายการสนับสนุนทางการเงินแก่ประชาชนโดยถ้วนหน้า

เริ่มด้วยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของว่าที่รัฐบาล ที่เสนอให้ค่าแรงขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 450 บาทต่อวัน นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่เรียกว่า รัฐได้ประโยชน์จากเงินของเอกชน เพราะเอกชนจะเป็นผู้รับต้นทุนดังกล่าวโดยตรง ในฐานะนายจ้าง

โดยหาได้มีส่วนในการตรวจสอบการกำหนดนโยบายดังกล่าวแม้แต่น้อย ความชอบธรรมของนโยบายดังกล่าว ก็ลดน้อยถอยลงไป เพราะผู้มีส่วนได้เสียกลับมิได้มีส่วนหารืออย่างที่ควรจะเป็นเพื่อประเมินผลกระทบรอบด้าน 

และใช่ว่าประเทศไทยไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยพลการ ภาคเอกชนของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมาแล้ว จากนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองควรต้องรอบคอบต่อการนำเสนอนโยบายดังกล่าวด้วยความละเอียดถี่ถ้วนให้มากยิ่งขึ้น แต่เหมือนว่า พรรคก้าวไกลจะละเลยบทเรียนที่เกิดขึ้นอย่างเจตนา

                    เหรียญอีกด้านของนโยบายจากผลิตผลสังคมนิยมว่าที่รัฐบาล

การแทรกแซงระบบเศรษฐกิจของรัฐในตลาดแรงงาน ด้วยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ โดยมิได้พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอุตสาหกรรม ทักษะของแรงงาน หรือการหมุนเวียนของแรงงานในตลาด ย่อมทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดอย่างที่ไม่ควรจะเป็น 

ผลกระทบที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับอย่างเหมาะสมแล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องของการลดการจ้างงานในตลาด การลงทุนเพื่อทดแทนแรงงาน หรือแม้แต่การย้ายฐานการผลิต เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ต้นทุนแรงงานอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าที่ภาคธุรกิจจะรับได้ และก็ไม่รู้ว่า เรื่องนี้จะได้มากกว่าเสียหรือไม่ด้วยซ้ำไป

ถัดจากนโยบายแทรกแซงตลาดแรงงานของว่าที่รัฐบาลแล้ว นโยบายที่น่ากังวลอีกประการหนึ่ง คือ นโยบายสวัสดิการสังคมที่สร้างตาข่ายความปลอดภัยของสังคม (Social Safety Net) ที่เหวี่ยงแหแจกเป็นการทั่วไป

โดยมิได้มีการพิสูจน์ว่า สมควรได้รับสวัสดิการหรือไม่ การประกาศแจกเงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง คูปองเปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียนสูงสุด 2,000 บาทต่อปี และอื่น ๆ อีกพอสมควร 

ใช่ว่านโยบายดังกล่าวไม่ดี แต่ผลสุทธิที่ได้แก่ประเทศไทยจะเป็นบวกจริง หรือ ก็ไม่อาจจะให้คำตอบที่มั่นใจได้ อย่างน้อยที่สุด นโยบายดังกล่าวจะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล และก็มีสัญญาณเปิดออกมาแล้วว่า ว่าที่รัฐบาลจะขอแก้ไขนิยามของงบลงทุนที่ถูกบังคับโดยกฎหมาย เพื่อให้สามารถหาแหล่งเงินมาจ่ายตามนโยบายเหล่านี้ได้ 

การเบียดเบียนงบลงทุนถือเป็นเรื่องที่อันตรายต่อระบบเศรษฐกิจที่สุด เพราะการลงทุนเป็นการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่หากรัฐบาลจะลดการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ผลตอบแทนจากการลงทุนที่นำเงินไปใช้เพื่อการอื่น จะสูงกว่าการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานกระนั้นจริงหรือ

นอกจากนี้ การเร่งหาเงินด้วยการกำหนดนโยบายภาษีความมั่งคั่งที่ลดทอนแรงจูงใจของการลงทุน การทำงาน และการสร้างความมั่งคั่งของผู้คนต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้คนที่มีรายได้สูง หรือ ทรัพย์สินมากหาหนทางที่จะโยกย้ายทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปสร้างมูลค่าเพิ่มที่ประเทศอื่น เพราะเขารู้สึกว่า เม็ดเหงื่อของเขาถูกรัฐบาลเอาเปรียบเกินไป

ความประสงค์เพื่อสร้างความเท่าเทียม และ ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่การลงมือคงต้องอาศัยประสบการณ์ ที่จะพัฒนานโยบายที่เหมาะสม และสร้างสมดุลทางสังคมอย่างแท้จริง เพราะการบริหารประเทศไม่ใช่ห้องทดลองเชิงนโยบายของพรรคการเมือง