เมื่อเดือนกันยายน 2566 “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง อดีตที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณเตือนว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล อาจทำให้เกิดปัญหา "ขาดดุลแฝด" (Twin Deficits) หรือ "ขาดดุลการคลัง" ควบคู่กับการ "ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด" เพราะในการบริโภคของคนไทยจะมีสัดส่วนของการนำเข้าถึง 50% ของจีดีพี
สอดคล้องกับ ดร.รณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่มองว่า หากประชาชนนำเงินดิจิทัล ไปใช้จ่ายในสินค้าหรือบริการที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบสูง หรือ ซื้อสินค้านำเข้า 100% การกระจายของเงินแทบจะจบลงทันที เพราะเงินส่วนมากจะออกไปอยู่ในกระเป๋าของชาวต่างชาติ หมุนออกไปนอกประเทศแทน มีเพียงกำไรส่วนน้อยที่อยู่กับคนไทย หมุนเวียนในประเทศ
ประเด็นนี้นักวิชาการหลายคน มีความคิดเห็นคล้ายกัน เพราะตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ไม่ค่อยสนับสนุนการนำเงินดิจิทัลที่แจกในประเทศไปซื้อสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูง รวมถึงไม่สนับสนุนการนำเงินไปซื้อสินค้านำเข้าอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาปฎิบัติจริงเชื่อว่าสามารถกำหนดประเภทของสินค้าได้ยาก เพราะความต้องการซื้อของคนไทยมีความหลากหลาย รัฐบาลต้องเป็นผู้กำหนดเรื่องนี้ให้ชัดเจน
“ถ้าเขาเอาเงินไปซื้อสมาร์ทโฟน ทีวี อุปกรณ์ไอที เงินไหลออกนอกประเทศแน่ ๆ แต่ประเด็นคือ ซื้อแล้วเอาไปทำอะไร มีผลให้กับประชาชนรายนั้นอย่างไร ซื้อแล้วนำไปต่อยอดงานหรือธุรกิจที่ทำไหม ดังนั้น การต่อยอดจากของที่ซื้อ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา ส่วนเงินจะไหลออกนอกประเทศมากน้อยเพียงใด ไม่สามารถคำนวณได้เลย”ดร.รณริฏ กล่าว
อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆคือ เมื่อรัฐบาลอัดฉีดเงิน 5.6 แสนล้านบาทเข้าไปกระตุ้นการบริโภค รัฐบาลก็ต้องขาดดุลการคลัง(กู้)เพิ่ม เพี่อนำเงินมาใช้ในการจัดทำนโยบายมากขึ้น
ยิ่งรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ ก็จะต้องกู้เงินมาใช้จ่ายมากขึ้น หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นตามมา
เมื่อประชาชนนำเงินที่รัฐบาลอัดฉีดไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะทำให้เงินส่วนหนึ่งไหลออกไปนอกประเทศทางอ้อม เหลือเงินที่หมุนเวียนในประเทศบางส่วน เช่น ซื้อของ 100 บาท ในจำนวนนี้อาจเป็นเงินที่ไหลออกต่างประเทศทางอ้อม 50 บาท เพราะแม้แต่สินค้าเกษตร พืช ผัก ต่างๆยังต้องใช้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศ 90% จึงไม่ได้ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจครบ 100% ตามที่รัฐบาลคาดหวัง
นักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งประเมินให้ฟังว่า การแจกเงินดิจิทัลหากจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับมาเท่ากับต้นทุนที่จ่ายไป 5.6 แสนล้านบาท รัฐบาลจะต้องทำให้เงินหมุน 15 รอบ ซึ่งเป็นไปได้ยาก นั่นคือที่มาของคำว่า "ได้ไม่คุ้มเสีย"
ที่สำคัญไม่มีไม่มีรัฐบาลไหนในโลกเลือกใช้นโยบายการคลังขาดดุล ที่จะนำไปสู่ปัญหา "ขาดดุลแฝด" ยกเว้นทำเพื่อคะแนนนิยม เพราะผิดหลักการบริหารนโยบายการคลัง หรือ fiscal policy อย่างชัดเจน
ปัญหาการ "ขาดดุลแฝด" ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจประเทศอย่างไร?
ความหมายของการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) คือ ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกับการขาดดุลการคลัง
การขาดดุลการคลัง หรือ ขาดดุลงบประมาณ เกิดจากภาครัฐมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ต้องกู้เงินมาใช้จ่าย
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เกิดจากการขาดดุลของดุลการค้า ดุลบริการ ดุลรายได้จากการลงทุนระหว่างประเทศ และดุลเงินโอนระหว่างประเทศ ซึ่งมักมีสาเหตุหลักจากการขาดดุลการค้า นั่นคือ มีรายจ่ายจากการนำเข้าสินค้ามากกว่ารายรับจากการส่งออกสินค้า ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง เนื่องจากต้องนำเงินทุนสำรองไปชดเชยการขาดดุลที่เกิดขึ้น
เมื่อดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลพร้อมกัน ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่าขาดดุลแฝด ก่อให้เกิดปรากฎการณ์เงินทุนไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินอ่อน สร้างแรงกดดันต่อปัญหาเงินเฟ้อ เสี่ยงที่จะเกิดยุคข้าวยาก หมากแพง ตามมา สุดท้ายประเทศก็ต้องกู้เงินจากเจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อชดเชยรายจ่ายของประเทศที่สูงกว่ารายรับ
ประเทศไทยเคยเจอกับปัญหานี้มาแล้วในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 จนต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF
ถามว่าไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ"ขาดดุลแฝด"หรือไม่
สำหรับการขาดดุลการคลัง ต้องยอมรับว่างบประมาณรายจ่ายของไทยเผชิญภาวะการขาดดุลงบประมาณมีรายจ่ายมากกว่ารายได้เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบันมีเพียงปีงบประมาณ 2548 เท่านั้นที่สามารถจัดทำงบประมาณแบบสมดุลได้
ที่สำคัญหากดูข้อมูลแผนการคลังระยะปานกลาง พบว่า ในปีงบประมาณ 2567-2570 รัฐบาลประเมินว่าจะต้องกู้เงินมาใช้จ่ายทั้งสิ้น 3.61 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 7.54 แสนล้านบาท และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท
นั่นหมายความว่าประเทศไทยยังต้องใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 4 ปี
กระทรวงการคลังประเมินว่า การขาดดุลการคลังจะส่งผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 11,254,544 ล้านบาท หรือ 62.97% ต่อจีดีพี ในปี 2566 เพิ่มเป็น 14,363,204 ล้านบาท หรือ 64.81% ต่อจีดีพี ในปี 2567
เมื่อนำตัวเลขหนี้สาธารณะที่มีอยู่มาคำนวณ เพื่อหาค่าเฉลี่ยหนี้ต่อหัว พบว่า คนไทยจะมีหนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มจาก 170,377 บาทในปี 2566 เป็น 217,437 บาท ในปี 2570 หรือเพิ่มขึ้น 47,060 บาทต่อคน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกู้เงินและหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการกู้เพื่อนำมาใช้สำหรับการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท
ส่วนปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ พบว่า ปี 2564 ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ ปี 2565 ขาดดุล 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนครึ่งแรกของปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์ โดยสภาพัฒน์คาดว่าในปี 2566 ทั้งปีดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์
แต่ถ้าดูตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดรายเดือนในปีนี้ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะบางเดือนเกินดุล บางเดือนก็ขาดดุล ดังนี้
ยิ่งดูตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 พบว่าประเทศไทยเราเคยมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักในปี 2556 แล้วค่อยกลับมาเกินดุลในปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2563 จากการเกินดุลการค้าและดุลบริการ จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก
แต่ในปี 2564 ประเทศไทยก็กลับมาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักในรอบ 8 ปี จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออก การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ดุลการค้า ดุลบริการขาดดุล และขาดดุลมากขึ้นในปี 2565 แล้วค่อยกลับมาเกินดุลสลับกับขาดดุลในปี 2566 เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศฟื้นตัว
เราจึงยังไม่อาจไว้วางใจได้ว่าประเทศไทยจะไม่กลับไปมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอีก
ดังนั้นการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่พาประเทศเดินเข้าสู่หน้าผาขาดดุลแฝด
หากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายนี้ก็ควรปรับลดขนาดของโครงการลง และกำหนดรายการสินค้าที่เข้าร่วมโครงการให้ชัดเจนตามข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์
ก็ได้แต่หวังว่า เงินดิจิทัล10000 บาท จะไม่พาประเทศไปตกลงสู่หุบเหวขาดดุลแฝด