คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,877 ระหว่างวันที่ 9-12 เม.ย.2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
...SvS... ปิดฉากการรับสมัครไปแล้วสำหรับการ “เลือกตั้ง 2566” ทั้งการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต แบบบัญชีรายชื่อ และการเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” เพื่อให้มีสิทธิ์ในการเสนอชื่อโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา หากพรรคนั้นได้ที่นั่งส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง
...SvS... พรรคไหน ใครบ้าง ที่เสนอชื่อเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ไปไล่เลียงดูกันหน่อย เริ่มจาก พรรคเพื่อไทย มี 3 รายชื่อ คือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กับ เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และ ชัยเกษม นิติสิริ
พรรคพลังประชารัฐ เสนอ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เพียงคนเดียว รวมไทยสร้างชาติ เสนอแคนดิเดตนายกฯ 2 คน คือ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ภูมิใจไทย เสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค แค่คนเดียว
ประชาธิปัตย์ ส่ง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว ก้าวไกล เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค เพียงคนเดียว ชาติไทยพัฒนา ก็เสนอชื่อ วราวุธ ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรค เพียงคนเดียว
ส่วน ไทยสร้างไทย เสนอ 3 รายชื่อ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และ น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค ขณะที่ ชาติพัฒนากล้า เสนอ 3 รายชื่อ ได้แก่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค และ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เลขาธิการพรรค
...SvS... ทีนี้หันไปดูโอกาสที่พรรคไหนจะได้จำนวน ส.ส.เข้ามากี่ที่นั่ง เป็น “โพลลับ” ที่ประเมินโดย “หน่วยงานด้านการข่าว” หน่วยหนึ่ง ที่ “เนชั่นทีวี” ได้ข้อมูลมา สำหรับในบ้านเราหน่วยงานด้านการข่าว มีหลายหน่วย เช่น หน่วยข่าวกรองทางทหาร หน่วยข่าวตำรวจ ก็คือ สันติบาล หน่วยข่าวร่วม หรือ ศูนย์ประสานงานข่าวกรอง และยังมีหน่วยข่าวที่แทรกอยู่ตามหน่วยงานที่ทำงานด้านความมั่นคงอีกหลายหน่วย แต่ “โพลลับ” ที่ว่านี้ไม่ใช่ “หน่วยข่าวสีเขียว” โดยโพลลับฉบับนี้ สำรวจและรายงานผล 3 ประเด็นใหญ่ๆ
...SvS... ไปดูความนิยมของ “แคนดิเดตนายกฯ” 10 อันดับแรก เป็นดังนี้อันดับ 1 อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 24.43, อันดับ 2 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 21.58, อันดับ 3 บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 12.58, อันดับ 4 บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 9.89, อันดับ 5 เศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 9.37
อันดับ 6 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 8.8, อันดับ 7 อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 5.46 อันดับ 8 กรณ์ จาติกวณิช พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.49,อันดับ 9 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.02 และ อันดับ 10 วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.39
ที่น่าสนใจคือ มีร้อยละ 4.77 ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร ทั้งนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากโพลคือ 1.พิธา มีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 2 ในระดับประเทศ ซึ่งเป็นการสรุปจากผลสำรวจรวมทุกภาค 2. บิ๊กป้อม มีคะแนนนิยมดีกว่า บิ๊กตู่ และไม่ใช่แค่เบียด แต่ห่างกันถึง 3% 3. เศรษฐา ทวีสิน เปิดตัวหลังบิ๊กตู่ แต่คะแนนกำลังแรงขึ้นมา และแซงคุณหญิงสุดารัตน์ 4. จุรินทร์ ค่อนข้างมีปัญหากับทุกโพล
...SvS... ไปดูผลสำรวจประเด็นที่ 2 คะแนนนิยมต่อนโยบายของพรรคการเมือง เป็นผลสำรวจระดับประเทศเช่นกัน คัดมา 10 อันดับแรก อันดับ 1 นโยบายค่าแรงขั้นตํ่า 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค พรรคเพื่อไทย, อันดับ 3 เครื่องฉายรังสีมะเร็งฟรีทุกจังหวัด ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ พรรคภูมิใจไทย, อันดับ 4 เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐพลัส เป็น 1,000 บาทต่อเดือน และสิทธิเบิกฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อคน พรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 5 นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน พรรคพลังประชารัฐ1
อันดับ 6 ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว พรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 7 แจกเงินคนท้องเดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือน จนกว่าจะคลอด และเงินช่วยดูแลบุตรอีกเดือนละ 3,000 บาท จนอายุ 6 ขวบ พรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 8 พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท พรรคภูมิใจไทย, อันดับ 9 เรียนฟรีถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ พรรคประชาธิปัตย์ และ อันดับ 10 ปลดล็อกท้องถิ่น พรรคก้าวไกล
...SvS... ส่วนผลสำรวจประเด็นที่ 3 คือ คะแนนนิยมของพรรคการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อการลงคะแนนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ข้อมูลในส่วนนี้ ได้มาแบบแยกภาค จึงขอนำเสนอในส่วนภาคอีสานก่อน เพราะน่าจะเป็นภาคชี้ขาดว่า “เพื่อไทย” จะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ โดย ภาคอีสาน ประเมินคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 10 อันดับแรก จากจำนวนประชากรทั้งภาคที่ กกต.ประกาศ คือ 17,505,727 คน
อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 48.5 อันดับ 2 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 13.7 อันดับ 3 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 11.8 อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.85 อันดับ 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 7.1 อันดับ 6 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 4.45 อันดับ 7 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3.1 อันดับ 8 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 2.40อันดับ 9 พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.90 อันดับ 10 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.20
...SvS... มีข้อน่าสังเกตคือ พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนนิยมในบัตรปาร์ตี้ลิสต์เกือบจะเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 48.5 แต่ต้องบอกว่าคะแนนนี้ไม่ผูกพัน หรือ ไม่แปรผันตรง กับการประเมินผลการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต เพราะข้อมูลการสำรวจ และประเมินผลรายเขต 20 จังหวัดภาคอีสาน พบว่า พรรคเพื่อไทย น่าจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 ราวๆ 94 ที่นั่ง ภูมิใจไทย น่าจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 2 ราวๆ 26 ที่นั่ง
พลังประชารัฐ น่าจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 3 ราวๆ 4 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย กับ ชาติพัฒนากล้า น่าจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 4 คือ ราวๆ 3 ที่นั่ง ทั้ง 2 พรรค ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์ และ ก้าวไกล น่าจะได้ ส.ส.เขต ในอีสาน พรรคละ 1 ที่นั่ง ส่วน รวมไทยสร้างชาติ น่าจะไม่ได้ ส.ส.อีสานเลยแม้แต่เขตเดียว
...SvS... สำหรับจังหวัดที่พรรคเพื่อไทย มีแนวโน้มได้ส.ส.ยกจังหวัด จากการประเมินและสำรวจของหน่วยข่าวหน่วยนี้ ก็คือ กาฬสินธุ์ 6 ที่นั่ง นครพนม 4 ที่นั่ง บึงกาฬ 3 ที่นั่ง มหาสารคาม 6 ที่นั่ง มุกดาหาร 2 ที่นั่ง ยโสธร 3 ที่นั่ง สกลนคร 7 ที่นั่ง หนองคาย 3 ที่นั่ง หนองบัวลำภู 3 ที่นั่ง อุดรธานี 10 ที่นั่ง จังหวัดที่พรรคภูมิใจไทย มีแนวโน้มได้ ส.ส.ยกจังหวัด คือ บุรีรัมย์ 10 ที่นั่ง
…มีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้ ถ้าผลสำรวจและประเมินของหน่วยข่าวหน่วยนี้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โอกาสที่ เพื่อไทย จะแลนด์สไลด์ คือได้ ส.ส.ทั้งประเทศพรรคเดียวเกิน 250 เสียง มีความกํ้ากึ่ง อาจจะเป็นไปไม่ได้ มากกว่าเป็นไปได้ หากเลือกตั้งปี 2566
เพื่อไทย ได้ ส.ส.อีสาน 94 ที่นั่ง จาก 133 ที่นั่ง จะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 70 ถ้าภาคอื่นๆ เพื่อไทยยังทรงๆ เหมือนปี 2554 ก็มีแนวโน้มไม่แลนด์สไลด์ แม้จะปริ่มนํ้า โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งปี 2554 เพื่อไทยไม่ได้เลยแม้แต่เก้าอี้เดียว และการเลือกตั้งปี 2566 ก็มีแนวโน้มเป็นแบบนั้น
…อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวชี้ขาดว่า เพื่อไทยจะแลนด์สไลด์หรือไม่ อยู่ที่สนาม กทม. เพราะในการเลือกตั้งปี 2554 เพื่อไทยได้มาแค่ 9 ที่นั่ง จาก 36 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 25 ขณะที่ประชาธิปัตย์กวาดไปถึง 27 ที่นั่ง หรือ ร้อยละ 75 เที่ยวนี้ เพื่อไทยตั้งเป้า 20 ที่นั่ง ว่าแต่จะได้ตามเป้าหรือไม่เท่านั้น ถ้าเข้าเป้าก็มีโอกาสลุ้นแลนด์สไลด์ได้เหมือนกัน
...SvS... ปิดท้ายกันที่... ขอแสดงความยินดีกับ ซีอีโอ CPF ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ที่มุ่งมั่นพาองค์กรสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050 โดยได้ประกาศนโยบาย CPF Coal Free 2022 ล่าสุดได้รับมอบใบรับรอง “โครงการ CPF Coal Free by the Year 2022” จาก บริษัท LRQA (ประเทศไทย) จำกัด ทวนสอบและรับรองความสำเร็จของการยกเลิกใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย