*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,897 ระหว่างวันที่ 22-24 มิ.ย. 2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** ใครจะเป็น “นายกฯ คนที่ 30” สำหรับประเทศไทย ใช่ พิธา ลิ้มเจริณรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และรัฐบาลใหม่ จะใช่ “รัฐบาลก้าวไกล” หรือไม่ สถานการณ์การเมืองไทย ณ ตอนนี้ยังเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ ...ความไม่แน่นอนดังกล่าวเกิดจากความวิตกกังวลที่ว่า หากมีการเสนอชื่อ พิธา เป็นนายกฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) รัฐบาลก้าวไกลที่รวมตัวกัน 8 พรรค จัดตั้งขึ้นมามี 312 เสียง ยังต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว. อีก 64 เสียง ถึงจะได้ 376 เสียง ครึ่งหนึ่งของ 2 สภา (ส.ส. 500 + ส.ว. 250) ในการโหวตสนับสนุนให้ พิธา เป็นนายกฯ แต่มีความเป็นห่วงว่า พรรคก้าวไกล จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อีกถึง 64 เสียงหรือไม่ ที่จะทำให้ พิธา ไปถึงดวงดาวในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ได้ ...เท่าที่ตรวจสอบท่าทีของบรรดา ส.ว.มา บอกได้คำเดียวว่า “เหนื่อย” สำหรับ ก้าวไกล และ พิธา จริง ๆ
*** อีกประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคขวากหนามของ ก้าวไกล และ พิธา คือ ปัญหาการถือครอง “หุ้นไอทีวี” ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ถูกร้องเรียนว่า “ถือหุ้นสื่อ” อันเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจลามไปถึงการขาดคุณสมบัติในการรับรองส่งผู้สมัครทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ หรือ มีปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยหรือไม่
...แม้ก๊อกแรก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะตีตกคำร้องของบรรดานักร้องทั้งหลายที่ขอให้ตรวจสอบ พิธา ถือครองหุ้นสื่อไอทีวีเข้าข่ายขาดคุณสมบัติรับเลือกตั้งส.ส.ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ได้ตั้งกรรมการไต่สวนว่าจะเอาผิดอาญากับ พิธา ตามมาตรา 151 ของพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ได้หรือไม่ ถ้าสรุปว่าเป็นความผิดก็จะมีโทษทั้งจำคุก ปรับ และ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี
*** แต่ถึงแม้ก๊อกแรก กกต.จะไม่สอบเอาผิด พิธา ปมถือหุ้นสื่อ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี “ก๊อกสอง” เพราะภายหลัง กกต.ประกาศรับรองให้ พิธา เป็น ส.ส.ไปแล้ว ก็มีคนไปยื่น กกต.ใหม่ให้สอบปมปัญหาการขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส.ของ พิธา ซึ่งนักร้องหน้าเก่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้ยื่นคำร้องทันที หลัง กกต.ประกาศรับรองให้ นายพิธา เป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพราะ กกต.มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมายแล้ว และหากมีมูลก็ต้องส่งคำร้องไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้วินิจฉัยคุณสมบัติของ พิธา
*** ส่วนปัญหาว่า “ไอทีวี” ยังถือเป็นสื่อ และดำเนินกิจการสื่ออยู่หรือไม่ และหุ้นที่ พิธา ถืออยู่ เป็นของ พิธา ด้วยหรือไม่ ลองไปฟังความเห็นของ ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กันดู ซึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนวัตถุประสงค์ของบริษัทไว้ว่า ประกอบกิจการสื่อมวลชน ปัจจุบันไม่ได้ออกอากาศ เพราะมีคดีพิพาทกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด แต่บริษัทยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท
2.ตามหลักฐานแบบ บมจ.006 ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทมหาชนจำกัด บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า นายพิธา ถือหุ้น 42,000 หุ้น โดยไม่มีข้อความว่า ถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก
3.นายพิธาเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งตาย เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549 หลังจากนั้น นายพิธาได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกของ นายพงษ์ศักดิ์ ผู้ตาย
4.ตามคำสั่งศาลที่ตั้ง นายพิธา เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มีข้อความตอนหนึ่งว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และ นายพิธา เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ซึ่งหมายความว่า
4.1 การที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกของผู้ตายย่อมตกแก่ทายาททุกคน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620
4.2 นายพิธา ไม่ได้ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ไม่ได้ถูกตัดมิให้รับมรดก และไม่ได้สละมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 กับมาตรา 1606 มาตรา 1608 และ มาตรา 1612 ตามลำดับ
4.3 นายพิธา เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1603
5.เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของผู้นั้นตกแก่ทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599
การที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกทั้งหมด รวมทั้งหุ้นบริษัท ไอทีวีฯ จึงตกแก่ทายาททุกคนของผู้ตาย ซึ่งรวมทั้ง นายพิธา ด้วย ตั้งแต่วัน นายพงษ์ศักดิ์ ตาย คือ วันที่ 18 ก.ย.2549 ทายาททุกคนจึงมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกร่วมกัน จนกว่าจะได้มีการตกลงแบ่งกัน หรือ ผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งให้แก่ทายาททุกคนเรียบร้อยแล้ว
แม้ นายพิธา เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ นายพิธา ก็ยังมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1603 และ ถ้าหุ้น บริษัท ไอทีวีฯ 42,000 หุ้น เป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาท นายพิธา ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ นายพงษ์ศักดิ์ ก็ย่อมได้รับหุ้นดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์มรดกด้วย นายพิธาจึงเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับทายาทคนอื่น
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีการะบุว่า โดยสรุปคือ ก่อนที่ นายพิธา โอนหุ้นให้แก่ นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 ซึ่งก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดก นายพิธา ก็เป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวีฯ โดยอาจเป็นผู้ถือหุ้นคนเดียว หรือ ถือหุ้นร่วมกับบุคคลอื่น ซึ่งก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่นั่นเอง ข้อเท็จจริงโดยมีเอกสารเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีผู้นำไปยื่นต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. แล้ว และ กกต.ได้ดำเนินการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินคดีแก่ นายพิธา ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 151 หรือไม่
ดังนั้น กกต. จึงควรต้องรีบดำเนินการไต่สวน และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังต่อไปนี้ด้วย คือ
1. นายพิธา เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) คือเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่
2. นายพิธา เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89(2)ประกอบมาตรา 160 หรือไม่
3.นายพิธาเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรี) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98 หรือไม่
4. นายพิธา เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ตามข้อบังคับพรรคก้าวไกล พ.ศ. 2563 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 พ.ศ. 2563) ข้อ 12 ที่มีข้อความว่า สมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (6) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ นายพิธา จะเป็นบุคคลต้องห้ามตามข้อ 1,2,3, และ 4 หรือไม่ ควรต้องรอฟังคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกรุณาอย่าตัดสินชี้ขาดให้ประชาชนสับสนเลยครับ
*** มารอดูกัน... ภายหลัง กกต.มีมติประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน รวม 500 คน แล้ว จะมีใครไปยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติของ พิธา ใหม่ หรือไม่ หรือไม่จำเป็นต้องมีใครมายื่นคำร้องใหม่ กกต.ก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเองได้เลย เพราะถือว่า “ความปรากฏ” แล้ว เหลือแต่เพียงว่า กกต.จะมีมติอย่างไร จะส่งให้ศาลรัฐธรรรมูญวินิจฉัยหรือไม่ เท่านั้น...