ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 จวบจนบัดนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 1 เดือน บรรดา ส.ส. ที่ชนะการเลือกตั้งก็ยังไม่ได้รับการประกาศรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนทำให้บรรดา “ด้อมส้ม” พรรคก้าวไกล ซึ่งกวาดส.ส.เข้ามาเป็นอันดับที่ 1 ต้องออกมายื่นหนังสือกดดัน กกต.ให้เร่งประกาศรับรองผล เพื่อเปิดทางประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ และมีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว
แม้ตามกฎหมายให้อำนาจ กกต. 60 วัน ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 ก.ค. 2566 นี้ แต่ล่าสุดมีรายงานจาก กกต.ว่า ในสัปดาห์หน้าวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้ กกต.เตรียมพิจารณารับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมกับ ส.ส.เขตเลือกตั้ง หลังได้พิจารณาไปแล้วว่าทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง เขตใดมีคำร้องคัดค้านและไม่มีคำร้อง
โดยคาดว่า กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ได้วันพุธที่ 21 มิ.ย.นี้ จากนั้นให้ ส.ส.ทยอยไปรับเอกสารรับรองได้ที่สำนักงาน กกต.
อนาคต“พิธา”จบที่ศาลรธน.
เมื่อ กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. ต้องโฟกัสไปที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ว่าจะไปถึงดวงดาวในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทยได้หรือไม่ หลังได้รับการประกาศให้เป็น ส.ส.
ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า พิธา ถูกร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งที่อาจเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ จากกรณีถือหุ้นสื่อ “หุ้นไอทีวี” เบื้องต้นแม้ว่า กกต.จะไม่รับไว้พิจารณา แต่หาก กกต.รับรองให้เป็น ส.ส.เมื่อไหร่ ก็จะมีคนไปยื่นใหม่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญอีกรอบ
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ประกาศไว้เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมาว่า “หลังกกต.ประกาศรับรองให้ นายพิธา เป็นส.ส.แล้ว วันรุ่งขึ้นจะมายื่น กกต. ให้ดำเนินการกับ นายพิธา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82”
2ส.ว.จี้กกต.ส่งศาลเอง
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีที่มีความสงสัยว่า ส.ว.เข้าชื่อ 1 ใน 10 ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาด กรณีของ นายพิธา กรณีถือครองหุ้นสื่อไอทีวีได้หรือไม่ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ระบุว่า กรณที่เห็นว่ามี ส.ส. หรือ ส.ว. มีปัญหาที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้สมาชิกแต่ละสภายื่นแยกกัน โดย ส.ส.ต้องเป็นผู้ยื่นเรื่อง ส.ส. ส่วน ส.ว.ยื่นเฉพาะเรื่อง ส.ว. ทั้งนี้ในมาตรา 82 วรรคท้าย ให้อำนาจ กกต.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ดังนั้น กกต. มีอำนาจและหน้าที่ชัดเจนโดยตรงว่า เมื่อรับรอง ส.ส.แล้ว มีเหตุสงสัยว่า ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 98(3) มาตรา 88 มาตรา 89 มาตรา 160 ที่น่าจะขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 101
จึงเห็นว่า กกต.มีหน้าที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเป็นที่สุด เพราะเป็นการต้องทำหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ หากละเลย เกรงว่าอาจมีผู้ยื่นฟ้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 เสียเอง ขอฝากความเห็นและข้อเสนอแนะมาด้วยความห่วงใย
เช่นเดียวกับ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. แสดงความเห็นเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า ส.ว.ไม่สามารถร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.ได้ เพราะประเด็นสมาชิกภาพของ ส.ส.เป็นสิทธิเฉพาะ ส.ส. ที่จะเข้าชื่อ 1 ใน 10 ของจำนวนที่มีอยู่ จะร้องขอผ่านประธานสภาฯ ของตน
"ก่อนถึงวันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบนั้น หาก กกต.จะส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาว่ามีลักษณะต้องห้าม ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาได้ จะเกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกเสนอชื่อ” นายดิเรกฤทธิ์ ระบุ
ม.151 ศาลใช้เวลานาน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ แต่ถูกฟ้องร้องมีคดีความอยู่ และในขณะนั้นมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการโหวตนายกฯ โดยศาลสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ มีขั้นตอนกฎหมายใดที่ขัดขวางไม่ให้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ว่า ปกติการแต่งตั้งตำแหน่งใดก็ตาม เป็นพระราชอำนาจ โดยกรณีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษาอัยการอธิบดี หรือ แม้แต่ขอประธานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังมา 2-3 ปีแล้วว่า ให้เข้มงวดกวดขัน ถ้ามี ก็ให้กราบบังคมทูลขึ้นไปว่า มีเหตุแบบนี้อยู่ แล้วจะโปรดเกล้าฯ อย่างไร ก็แล้วแต่ ซึ่งในกรณีของนายกฯ ก็ใช้หลักเดียวกัน
เมื่อโปรดเกล้าฯ ก็เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ก็ไม่ต้องสงสัยอะไร แต่ต้องกราบบังคมทูลขึ้นไปว่าเกิดอะไรขึ้น และผู้ที่รับผิดชอบ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น คือผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการรับสนองก็คือการรับผิดชอบแทน
เมื่อถามย้ำว่าถ้ามีวาระการโหวตนายกฯ ประธานสภาฯ ก็ต้องรับผิดชอบ ถ้ากล้าเปิดให้มีการโหวต นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานสภาฯ ก็ต้องดูแลให้ถูกต้อง ให้ดี จะเบรกอะไรก็เบรกในชั้นประธาน
ส่วนกรณีมีใครถูกสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ชื่อคนนั้นจะนำไปเสนอโหวตเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ ยืนยันว่า “ไม่ได้” แม้คดีจะยังไม่สิ้นสุด เพราะถือว่าหยุดปฎิบัติหน้าที่แล้ว ก็เข้าไปทำหน้าที่ไม่ได้ แล้วจะไปตั้งทำไม
เมื่อถามย้ำว่าครั้งที่แล้ว นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เหตุใดจึงมีการเสนอชื่อเข้าไปโหวตนายกฯได้ นายวิษณุ กล่าว ตนเข้าใจว่า โหวตเลือกนายกฯ ไปแล้ว 2 วัน จึงถูกให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ 2 สมัย
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ปกติศาลจะไม่สั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ เพราะเร็วเกินไป ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ส่วนถ้า กกต. จะฟ้อง ม.151 ศาลอาญาก็ต้องใช้เวลาพิเคราะห์นานพอสมควร
“หากเรื่องอยู่ในศาลอาญาส่วนใหญ่ก็จะไม่มีการให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่ ม.151 เป็นที่มาของทุกเรื่อง ถือว่าถูกต้องแล้ว ที่ดรอปเรื่องอื่นให้หมด แล้วเหลือ ม.151 เพราะถ้าใช้มาตรานี้ ผลที่ออกมาจะครอบคลุมทั้งหมด แต่ใช้เวลานาน”
ส่วนกรณี ส.ส. เข้าชื่อ 50 คน สามารถนำ ม.151 ไป ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ใช้ ม.151 แต่ใช้ ม.82 ซึ่งถ้าฝั่ง ส.ว.จะยื่นก็ใช้ 25 คน รวมถึง กกต. ก็ยื่นสอบได้เช่นกัน เพราะเวลาตั้งข้อหาก็ตั้งไม่เหมือนกัน และการยื่นนี้ต้องผ่านประธานสภาฯ ก่อน แต่จะยื่นผ่านประธานวุฒิสภาก็ได้
ทุกอย่างจบที่ศาล
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯ ในขณะที่มีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติ ว่า การดำเนินคดีกับ นายพิธา ตาม ม. 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ฐานรู้ว่าไม่มีคุณสมบัติ แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการดำเนินคดีทางอาญา ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวกับการตัดคุณสมบัติ หรือ วินิจฉัยลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นผู้วินิจฉัย
ดังนั้น ไม่น่าจะมีอะไรขัดขวางการเสนอชื่อ นายพิธา ชิงตำแหน่งนายกฯ เว้นแต่เมื่อรับรอง ส.ส.แล้ว ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 คือ 50 คน เห็นว่ามีมูลเหตุว่า นายพิธา ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็น ส.ส.ได้ และจะพัวพันไปถึงการจะเป็นนายกฯ ด้วย มีสิทธิเสนอเรื่องต่อประธานสภาฯ ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม
แต่หากไม่มี ส.ส. ส่งเรื่องไปที่ศาลฯ กกต.ก็มีอำนาจตรวจสอบเรื่องนี้ แล้ววินิจฉัยว่า จะส่งเรื่องไปให้ศาลฯ วินิจฉัยหรือไม่ กว่าจะคดีจะเข้าสู่ศาลฯเพื่อวินิจฉัยว่ารับเรื่องหรือไม่ และจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลฯ ก็ใช้เวลานานพอสมควร
นายจรัญ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ควรเดินหน้าตามขั้นตอนกฎหมาย โดยรอให้ กกต. รับรอง ส.ส. ให้ครบร้อยละ 95 และเปิดประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯ จากนั้นประธานสภาฯ ในฐานะประธานรัฐสภาจะนัดประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกฯ
“เมื่อถึงขั้นตอนนั้นยังไม่ทราบว่าจะมีคำร้องต่างๆ อย่างไร จะมีใครส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ไม่ทราบว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร สมมุติว่าศาลฯ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะมีผลต่อแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ เพราะศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เขาไม่ได้ร้องเพิกถอนคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ เว้นแต่ผู้ร้องจะร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ ด้วย ซึ่งไม่มีช่องทางให้ไป ดังนั้นเรื่องนี้ต้องจบที่ศาล”
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีกระบวนการที่จะให้ไปสู่ศาลอย่างชัดเจน ยังมีความซับซ้อนมาก แต่กลับมีการพิจารณาคดีทางสื่อ โดยแต่ละฝ่ายหยิบหลักฐานออกมาแสดง เพื่อชี้ไปยังประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีขั้นตอน ไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ละคนว่าไปตามความคิดของตัวเอง ในที่สุดแต่ละฝ่ายที่สนับสนุน ก็แบ่งฝ่ายทะเลาะกัน 2 ฝ่าย 3 ฝ่าย โดยไม่มีข้อยุติ ตนกังวลว่าในที่สุดจะนำไปสู่สงครามบนท้องถนน จึงอยากให้เรื่องนี้ไปจบด้วยกระบวนการทางนิติ คือไปจบที่ศาล ไม่เช่นนั้นสังคมก็เดินไม่ได้
“พิธา”ลั่นจะต่อสู้คดีนี้ได้
ขณะที่ นายพิธา ให้สัมภาษณ์ว่า เราคำนึงถึงฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้น มาตรา 151 ไม่ได้เลยไปจากที่คิด เพราะเคยเกิดขึ้นกับ นายธนาธร อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มาก่อน และใช้วิธีให้ ส.ส.เข้าชื่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกา หรือ ศาลอาญา
“ยืนยันว่า หลักกฎหมาย หลักฐานพร้อมที่จะสู้ สู้ทุกรายละเอียด ทุกกระบวนความ ยังมั่นใจในหลักฐาน และหลักกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อเห็นความไม่ชอบมาพากล ที่พยายามจะสร้างหลักฐานก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้มั่นใจว่า จะต่อสู้คดีนี้ได้”
พร้อมระบุว่า เป็นสิ่งที่เราคิดไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น ที่คิดไว้อยู่ว่าจะเป็นการสกัดกั้น ไม่ให้ผมเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ว่าจะสกัดกั้นอย่างไร ก็ไม่ทำให้การเป็นแคนดิเดตนายกฯ หมดไป
…วิบากกรรมของ “พิธา” นอกจากจะต้องต่อสู้คดีในศาลอาญา กรณี ม.151 หาก กกต.มีมติชี้มูลแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะต้องสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งศาลด้วย อนาคตจะเป็นเช่นไร ก็คงจบที่ศาลแน่นอน