การเติบโตของธุรกิจการบินฯโอกาสบนความท้าทายของไทย

29 ก.ย. 2559 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2559 | 15:43 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง "การเติบโตของธุรกิจการบินในไทย ...โอกาสบนความท้าทายของไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการบินครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน"  

ธุรกิจการบินในไทยนับว่าได้ทวีความสำคัญอย่างน่าจับตามอง สะท้อนได้จากปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางมายังสนามบินในสังกัดของบมจ.ท่าอากาศยานไทยและกรมท่าอากาศยานรวม 31 แห่งทั่วประเทศในช่วงปี 2555-2558 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15.2 ต่อปี ซึ่งสอดล้อกับความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินในไทยที่มุ่งเพิ่มขนาดฝูงบินและขยายเส้นทางการบิน ซึ่งการเติบโตดังกล่าวเป็นไปในทิศทางที่สอดรับกันกับการเติบโตของธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความคึกคักเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ได้มีการพยากรณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2578) จะมีผู้โดยสารที่มีจุดหมายปลายทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 2,360 ล้านคน หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.0 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าของการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางทั่วโลกที่เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.8 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ขนาดตลาดธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นจากเดิม ดังนั้น จึงก่อให้เกิดคำถามที่ว่า ไทยมีความพร้อมเพียงพอที่จะรองรับโอกาสจากการเติบโตของธุรกิจการบินในภูมิภาคมากน้อยเพียงใด

สำหรับในระยะข้างหน้า คาดว่า แนวโน้มของธุรกิจการบินในไทยน่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายเส้นทางการบินที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ไทยมีจุดเด่นที่ตั้งอยู่กึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ของอาเซียน รวมถึงมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับประเทศ CLMV ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ระหว่างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหากไทยสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางการบิน เพื่อเชื่อมต่อ CLMV กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ ก็จะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตา สำหรับสนามบินในกลุ่มที่เกิดความแออัดและมีแนวโน้มที่จะเต็มความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วง 6 ปีข้างหน้าผู้โดยสารที่เดินทางมาใช้บริการยังสนามบินในสังกัดของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (6 แห่ง) และกรมท่าอากาศยาน (7 แห่ง) รวม 13 แห่ง จะมีจำนวนแตะ 238.4 ล้านคน ในปี 2565 หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.5 ต่อปี เกินกว่าความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในปีเดียวกันของสนามบินทั้ง 13 แห่งที่ 192.7 คน ต่อปี

ดังนั้น ไทยจึงควรมุ่งเน้นพัฒนาสนามบินที่มีผู้โดยสารมีความแออัดโดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองซึ่งเป็นสนามบินยุทธศาสตร์สำคัญ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสวงหาโอกาสจากการจำนวนเครื่องบินที่เข้ามาทำการบินยังสนามบินของไทยในอนาคต ไทยจึงควรมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบินครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสายการบิน ซึ่งได้แก่ ธุรกิจสนามบิน ธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี และธุรกิจซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินน่าจะได้รับอานิสงส์ในการขยายตัวตามไปด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

ธุรกิจการบินในไทยนับว่าได้ทวีความสำคัญอย่างน่าจับตามอง สะท้อนได้จากปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางมายังสนามบินทั่วประเทศในช่วงปี 2555-2558 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15.2 ต่อปี สอดรับกันกับการเติบโตของธุรกิจการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความคึกคักเป็นอย่างมาก สำหรับในระยะข้างหน้า คาดว่า แนวโน้มของธุรกิจการบินในไทยน่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายเส้นทางการบินที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ไทยมีจุดเด่นที่ตั้งอยู่กึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ของอาเซียน รวมถึงมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับประเทศ CLMV  ซึ่งหากไทยสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางการบิน เพื่อเชื่อมต่อ CLMV กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ ก็จะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตา สำหรับสนามบินในกลุ่มที่เกิดความแออัดและมีแนวโน้มที่จะเต็มความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ดังนั้น ไทยจึงควรมุ่งเน้นพัฒนาสนามบินโดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองซึ่งเป็นสนามบินยุทธศาสตร์สำคัญ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสวงหาโอกาสจากการจำนวนเครื่องบินที่เข้ามาทำการบินยังสนามบินของไทยในอนาคต ไทยจึงควรมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบินครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสายการบินน่าจะได้รับอานิสงส์ในการขยายตัวตามไปด้วย.