ล้มแผน! ‘บางกอกแอร์ฯ’ ยึดป่าสงวน 2 พันไร่ ผุดสนามบินพังงา

12 พ.ย. 2560 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2560 | 12:55 น.
19-6-2560-9-29-08-7 พับแผน “บางกอกแอร์เวย์ส” สร้างสนามบินบริเวณป่าสงวนแห่งชาติท้ายเหมือง พังงา กพท.ดันโคกกลอย ตะกั่วทุ่ง เหมาะกว่า เล็งเสนอ ครม.เคาะ 2 ทาง “รัฐสร้าง-เอกชนร่วมทุน”

แผนการสร้างสนามบินพังงาเชิงพาณิชย์ ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่ต้องการขอเช่าพื้นที่ราว 2,000 ไร่ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีอันต้องล้มเลิกไป เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะสร้างสนามบินแห่งใหม่ แต่เห็นว่าควรจัดสร้างที่บริเวณ ต.โคกกลอย จ.พังงา ซึ่งจะเหมาะสมกว่า ส่วนรัฐจะลงทุนสร้างเอง หรือเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป

21-6-2560-11-20-16-2

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. เปิดเผยว่า สำนัก งานการบินพลเรือนฯ ได้ทำแผนแม่บทพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ 20 ปีข้างหน้า เพื่อเสนอคณะกรรมการการบินพลเรือนพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนเสนอ ครม.พิจารณา

จะแบ่งสนามบินเป็น 4 ประเภท คือ 1.สนามบินศูนย์กลาง มีสนามบินสุวรรณ ภูมิ และดอนเมือง 2.สนามบินระดับรองที่มีสายการบินระดับประเทศบินตรง คือ สนามบินเชียงใหม่ และภูเก็ต 3.สนามบินระดับภาค ในภาคเหนือ ที่เชียงราย ภาคอีสาน ที่ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี ภาคใต้ ที่กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และ 4.สนามบินระดับจังหวัด
จากแผน 20 ปี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขยายสนามบิน และสร้างใหม่ 2 แห่ง โดยสนามบินที่จะขยาย เช่น สนามบินสุวรรณภูมิจะสร้างรันเวย์เพิ่มเพื่อรองรับการเจริญเติบโต ส่วนสนามบินที่ไม่ได้กล่าวถึง จะเพิ่มหลุมจอด เพิ่มอาคารผู้โดยสาร เพิ่มรันเวย์ ตามรอบระยะเวลา ฉะนั้นในแผนแม่บทก็จะมองในภาพใหญ่เพื่อรองรับปริมาณที่จะเจริญเติบโตในประเทศ 20 ปีข้างหน้า

[caption id="attachment_230286" align="aligncenter" width="503"] TP15-3313-A พื้นที่สร้างสนามบิน : สภาพพื้นที่บริเวณ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ที่จะผลักดันให้สร้างสนามบินพังงา เพราะมีความเหมาะสม[/caption]

ส่วนที่จะสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น คือภูเก็ต และเชียงใหม่ แต่สนามบินเดิมไม่สามารถขยาย ด้วยข้อจำกัดเรื่องสิ่งแวดล้อม มีประชาชนเข้าไปอยู่ใกล้สนามบิน จึงต้องหาพื้นที่ในการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 โดยที่เชียงใหม่ได้พื้นที่ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ส่วนภูเก็ต ได้ที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ข้ามสะพานสารสินไป เพราะสนามบินภูเก็ต ติดทะเล หากขยายไปก็ต้องมีการถมทะเล ในเชิงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทำยาก ซึ่งจากการสำรวจได้ที่ ต.โคกกลอย เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสภาพจะไม่ตัดกระแสการจราจรกับจ.ภูเก็ต ที่สามารถให้บริการคู่กันทั้ง 2 สนามบินได้ แต่ก็ต้องมีการศึกษาพื้นที่จริงอีกครั้ง ที่จะมีทั้งศึกษาการลงทุน การออกแบบ และต้องสำรวจระยะทาง ถือเป็นจุดเริ่มในการดำเนินการต่อไป

“หากบางกอกแอร์เวย์สจะขอไปสร้างตรง อ.ท้ายเหมือง จากการพิจารณา และ กพท.ได้ไปสำรวจดูไซต์ ในเชิงความเหมาะสมในระยะยาว คิดว่าที่ที่ได้เสนอ คือ ต.โคกกลอย น่าจะไปได้ดีกว่า โดยจะใช้พื้นที่ใกล้เคียงกันประมาณ 2,000 ไร่ เนื่องจากตรงนั้นจะเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่มีชุมชน ป่าไม้สามารถบูรณะได้ และไม่ได้มีการใช้ประโยชน์แล้ว แต่ประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบบ้างในการทำถนนเข้าออกกับสนามบินและตามกฎหมายก็ต้องไปเคลียร์อีกครั้ง โดยทั่วไปการใช้ที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะรัฐเท่านั้นที่จะไปดำเนินการเอามาใช้ได้ เอกชนอาจจะยากไปนิดหนึ่ง”

ส่วนรูปแบบการลงทุนต้องหารือระดับนโยบาย โดยถ้าให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รับผิดชอบลงทุนสนามบินแห่งใหม่ ที่พังงา และลำพูน อาจต้องดูเงินทุนหมุนเวียนของ ทอท. เพราะ ทอท.มีแผนจะขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ขณะที่การให้บริการสนามบินปัจจุบัน มีผลตอบแทนดี อาจจะพิจารณาใช้วิธีการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ PPP โดยรัฐรับผิดชอบหาที่ดิน สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจะมีทั้งผลทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้หากเอกชน (บางกอกแอร์เวย์ส) ยังดึงดันที่จะสร้างสนามบินบริเวณ อ.ท้ายเหมือง ผู้อำนวยการ กพท. ระบุว่าในการสร้างสนามบิน คนที่จะดำเนินการสร้างต้องมาขออนุญาตจาก กพท. ก่อน ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีการขอมาแต่อย่างใด สำหรับการขอสร้างสนามบิน หากอยู่ในหลักเกณฑ์ ก็สามารถพิจารณาให้ เพราะในเชิงการปฏิบัติ กพท.ไม่ห้ามใคร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-11