นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยภาพรวมในเดือนกุมภาพันธ์จะมีทั้งชะลอลดลงและปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยภาพที่ชะลอลงเป็นภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่อเที่ยว และการผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงจากเดือนม.ค.แม้ว่าการส่งออก
การบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศยังไปได้แต่การส่งผ่านไปยังภาคการผลิตของไทยยังไม่กระเตื้องโดยติดลบจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลจาก 1.การระบายสต๊อคของผู้ผลิตบางกลุ่มสินค้า และ2.การแข่งขันที่รุนแรงจากสินค้าต่างประเทศ
รายละเอียดภาคการท่องเที่ยวเดือนก.พ. จำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงเกือบ 14%(-13.9%)จากเดือนก่อน 6.2% เป็นการลดลงของนักท่องเที่ยวสัญชาติจีน มาเลเซีย ซึ่งเร่งตัวไปก่อนหน้าช่วงตรุษจีน(29ม.ค.)และความกังวลเรื่องความปลอดภัย ในการท่อเที่ยว ประกอบกับนโยบายของประเทศจีนมีความเข้มข้น และเศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอลง เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ซึ่งเร่งตัวไปก่อนหน้า
ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งสัญชาตอินเดีย ญี่ปุ่น และรัสเซียซึ่งต้องจับตาผลกระทบต่อท่องเที่ยวไทยหลังเกิดแผ่นดินไหว สำหรับรายรับการท่องเที่ยวลดลง 9.4%จากเดือนม.ค.2.5%และมีส่วนทำให้เครื่องชี้ภาคบริการปรับลดลงหลายหมวดเช่น ภาคการค้าลดลง
โดยเฉพาะยอดขายขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ,ภาคการขนส่งผู้โดยสาร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเดือนม.ค.รัฐบาลมีมาตรการลดฝุ่นPM2.5 โดยเปิดให้ใช้MRT BTSฟรี และภาคการขนส่งสินค้า อีกส่วนเป็นการลดลงจากธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร อย่างไรก็ดีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยปรับเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ.
ด้านการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้น 13.5%จาก 4.9%เดือนก่อน และเพิ่มขึ้นในหลายหมวดที่สำคัญ หมวดยานยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นตามการส่งออกรถยนต์นั่ง และกระบะไปออสเตรเลีย อาเซียน
และส่งออกยางล้อไปสหรัฐส่วนหนึ่งเป็นการเร่งส่งออกก่อนที่สหรัฐจะมีมาตรการทางการค้า, หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ดีทั้งในกลุ่มคอมพิวเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ฮาร์ดดิตไดร์ฟ อุปกรณ์และสื่อสาร สอดคล้องการฟื้นตัวของวัฎจักรอิเล็กทรอนิกส์
หมวดโลหะมีค่าดีขึ้นตามการส่งออกกลุ่มแพลตินัมไปอินเดียเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากอินเดียลดภาษีนำเข้าโลหะมีค่าชั่วคราวโดยล่าสุดได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขด้านภาษีนี้แล้ว
หมวดการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นไปตามส่งออกน้ำตาลไปอินโดและส่งออกยางดิบไปจีน หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า จากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปสหรัฐ และเวียดนาม
สำหรับการส่งออกที่ปรับลดลงในเดือนก.พ.ได้แก่ กลุ่มปิโตรเลียมลดลงตามการส่งออกดีเซลไปอาเซียน (เร่งไปก่อนหน้า)และเครื่องจักรปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยผู้ประกอบการบางกลุ่มระบายสต๊อคทั้งในส่วนฮาร์ดดิตไดร์ฟและเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยรวมทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.ลดลง 1.0%จากเดือนก่อนขยายตัว 1.7% โดยลดลงจากหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเลียม
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเดือนก.พ.ปรับเพิ่มขึ้น 0.9%จากเดือนก่อน หลักๆมาจากการเพิ่มขึ้นหมวดสินค้าไม่คงทน ซึ่งสอดคล้องการใช้ไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายเชื้อเพลิง ที่เพิ่มขึ้นแต่ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงในเดือนก.พ. หมวดสินค้ากึ่งคงทนทรงตัวในเดือนก.พ. โดยปริมาณการนำเข้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่มลดลงจากที่เร่งไปก่อน ขณะยอดขายกึ่งคงทนปรับเพิ่มขึ้น
สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนก.พ.ปรับลดลง ตามยอดขายรถยนต์นั่งและยอดจดทะเบียนรถมอเตอร์ไซด์ ขณะที่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ด้านการบริโภคหมวดบริการเดือนก.พ.ปรับลดลงในหมวดโรงแรมและภัตตาคารสอดคล้องจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวที่ลดลง อย่างไรก็ดี การบริโภคการบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น เรื่องบริการข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งบริการทางการเงิน
ด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากเดือนม.ค. หลักๆมาจากความกังวลเรื่องผลกระทบนโยบายการค้าของสหรัฐที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย เรื่องการจ้างงาน รายได้ในอนาคตและค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง โดยรวมปรับลดลงเล็กน้อย
เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชนทุกหมวดหลักปรับลด 1.9%จากเดือนก่อนหดตัว 0.9% โดยมาจากการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง 2.0% จากการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ ขณะการลงทุนยานพาหนะลดลงจาก รถยนต์นั่ง รถบรรทุก เครื่องบิน เรือ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งนำเข้าไปช่วงก่อนหน้าแล้ว
การลงทุนด้านการก่อสร้างลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยหมวดที่อยู่อาศัยปรับลดลงตามพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างบ้านและทาวน์เฮ้าส์ ส่วนพื้นที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียยังปรับเพิ่มขึ้น แต่ต้องติดตามหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว สำหรับการก่อสร้างหมวดที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยปรับลดลงตามพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างและมูลค่าโอนกรรมสิทธิโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ
ด้านความเชื่อมั่นการลงทุนของผู้ประกอบการนั้น ธุรกิจภาคการผลิตความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าสอดคล้องตามอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่วนภาคที่ไม่ใช่การผลิตความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในธุรกิจบริการทางการเงินและการขนส่ง โดยรวม Sentimentด้านการลงทุนผู้ประกอบการปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐเดือนก.พ.ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยขยายตัวโดยในส่วนรัฐบาลกลางปรับดีขึ้นทั้งรายจ่ายประจำ 0.6%และ 101.6% ตามลำดับ และรายจ่ายลงทุนเป็นผลจากการเบิกจ่ายเงินบำนาญ งบบุคลากรเป็นค่าตอบแทนแรงงานภาครัฐกับค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนปรับเพิ่มจากผลเบิกจ่ายเหลื่อมเดือนของกรมชลประทาน กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว 3.5%เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน ซึ่งเม็ดเงินการเบิกจ่ายของโทรคมนาคม และการโครงการด้านพลังงานยังคงเบิกจ่ายได้ดีตามแผน
ด้านตลาดแรงงานนั้น ข้อมูลผู้ประกันตน ม.33 ในระบบประกันสังคมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน 0.2% โดยมาจากการจ้างงานภาคบริการเป็นสำคัญ ในส่วนของผู้ประกันตนภาคการผลิตและก่อสร้างยังคงปรับลดลง
ขณะที่ผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ปรับลดลงจากเดือนม.ค. สะท้อนสัญญาณที่ดีขึ้นในตลาดแรงงาน โดยในส่วนที่ลดลงมาจากภาคการผลิตรถยนต์ และการขนส่งแต่จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรวมเทียบกับผู้ประกันตนทั้งหมดยังอยู่ในแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนการหางานใหม่ในระบบประกันสังคมยังทำได้ยากและต้องติดตามต่อไป
สำหรับเสถียรภาพด้านราคาหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.08%ลดลงจาก 1.32%เดือนก่อน หลักๆมาจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ปรับลดลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดอยู่ที่ 1.13%เพิ่มขึ้นจาก 0.97% มาจากราคาเนื้อสุกร ขณะที่ราคาข้าวสารเจ้าปรับลดลงตามการทำโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.99% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.83% ตามราคาอาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร และค่าโดยสารสาธารณะหลังสิ้นสุดมาตรการยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าและรถเมล์ เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของภาครัฐ
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.5พันล้านดอลลาร์สหรัฐปรับเพิ่มขึ้น(จาก 2.7พันล้านดอลลาร์เมื่อเดือนก่อน) ตามดุลการค้าเกินดุล 4.4พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามการส่งออกขณะที่การนำเข้าลดลง ส่วนดุลบริการ รายได้และเงินโอน เกินดุลลดลงเหลือ 1.1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (จาก 2.3พันล้านดอลลาร์เมื่อเดือนก่อน)จากรายรับภาคการท่องเที่ยวลดลง
สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเดือนก.พ.เฉลี่ยแข็งค่าจากเดือนก่อน หลังมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐและจีนไม่รุนแรงตามที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดีข้อมูลถึงวันที่ 25มี.ค.ค่าเงินบาทเฉลี่ยทรงตัวใกล้เคียงเดือนก.พ.แม้จะผันผวนบ้างตามการคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดและนโยบายกีดกันทางการค้ายังเป็นไปตามตลาดคาด สำหรับดัชนีเงินบาท(NEER)เดือนก.พ.เฉลี่ยแข็งค่า
มองไปข้างหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนโดยภาคการท่องเที่ยว โดยต้องติดตามผลที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการท่องเที่ยวอย่างไร ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวแต่ยังต้องติดตามความต่อเนื่องของการส่งออกว่านโยบายการค้าของสหรัฐจะเป็นอย่างไร
ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นจากความเชื่อมั่นภาคการผลิตเป็นสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดธุรกิจ และกลับมาอยู่เหนือระดับ 50ในรอบหลายเดือน นำโดยกลุ่มบรรจุอาหาร เครื่องสำอางที่อุปสงค์ขยายตัวได้ดี ทำให้คำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผลบวกของวัฎจักรการฟื้นตัวของอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ดีกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับลดลงเช่น กลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาน้อย และกลุ่มค้าส่ง ค้าส่งเหล็กและวัสดุก่อสร้างอสังหาที่หดตัว
สำหรับในอีก 3เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการโดยรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ 50.7จากเดือนก่อน นำโดยภาคอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มการค้า และความเชื่อมั่นภาคการผลิตปรับลด
นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการทำธุรกิจ 5อันดับได้แก่ ต้นทุนการผลิคสูง (ล่าสุดปรับลดลง)สะท้อนปัญหาเรื่องต้นทุนสูงที่ค่อยๆบรรเทาลงของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี ความต้องการในประเทศที่ต่ำและการแข่งขันรุนแรงเป็นเทรนด์เพิ่มขึ้น
โดยสรุปเดือนก.พ.ภาวะเศรษฐกิจเดือนก.พ.ชะลอลงจากเดือนก่อน จากภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (ตามจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวลดลง) ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนเอกชนลดลง ส่วนการส่งออกปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเล็กน้อยจากหมวดพลังงาน แนวโน้มระยะต่อไปคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนโดยภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ โดยยังเห็นการส่งออกสินค้าและการผลิตในบางหมวดยังคงได้แรงกดดันการแข่งขันจากต่างประเทศและปัจจัยเชิงโครงสร้างของธุรกิจ
รวมทั้งยังมีแรงกดดันจากนโยบายการค้าที่รออยู่ในระยะข้างหน้า สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามของเศรษฐกิจไทยระยะต่อไป 4เรื่องสำคัญ
1.ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่จะมีต่อความเชื่อมั่นในเรื่องต่างๆ
2.พัฒนาการของภาคการผลิตจะตอบสนองต่ออุปสงค์ที่ปรับดีขึ้นแค่ไหน
3.ผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักและ
4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ