'ดีอี' เตรียมนำเสนอแผนควบรวมกิจการ "ทีโอที-แคท" ตั้งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เตรียมชงเรื่องเข้า คนร. เห็นชอบควบรวม ดีเดย์ 7 ม.ค. นี้ ก่อนส่งเรื่องต่อให้ ครม. ดำเนินการกดปุ่ม ด้าน "สรท." โล่งเรื่องโอนคลื่นความถี่ แต่กังวลใจข้อพิพาทค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกับคู่สัญญาของ กสท ยุติไปด้วย
ใกล้งวดเข้ามาทุกทีกับการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติฯ
หลังจากรัฐบาลได้ "ล้ม" แผนจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติฯ หรือ NBN และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต จำกัด หรือ NGDC
ขณะที่ ไทม์ไลน์ควบรวมธุรกิจ คณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ได้กำหนด ดังนี้ วันที่ 19 ต.ค. - 15 พ.ย. 2561 จัดตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ โดยมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจได้เห็นชอบแผนควบรวมธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย โดยส่งต่อไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เพื่อนำเสนอให้กับ คนร. เพื่อพิจารณาในวันที่ 7 ม.ค. 2562
ทั้งนี้
นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ หรือ สรท. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 7 ม.ค. 2562 ทางกระทรวงดีอีเตรียมนำแผนควบรวมนำเสนอต่อ คนร. เข้าสู่การพิจารณา เมื่อขั้นตอนดังกล่าวผ่านแล้วจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เห็นชอบควบรวมธุรกิจ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการยุบรวมกิจการ
"เมื่อผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ก็จะเรียกประชุมสามัญผู้ถือหุ้นสรรหาคณะกรรมการบริษัท NT Co. และดำเนินการใบอนุญาต ถัดจากนั้นเดือน เม.ย. ประธานกรรมการ กสท และทีโอที เรียกประชุมผู้ถือหุ้น และเดือน พ.ค. 2562 กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด เช่น จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท"
อย่างไรก็ตาม แม้ทาง สรท. ได้เรียกร้องสิทธิในการใช้คลื่นความถี่วิทยุสามารถโอนไปให้บริษัทใหม่ได้ (การขัดกันของกฎหมาย กล่าวคือ พ.ร.บ.กสทช. ให้สิทธิในการใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวและต้องประกอบกิจการเอง ส่วน พ.ร.บ.ควบรวมกิจการ กำหนดให้สิทธิของบริษัทเดิมนั้นโอนไปให้บริษัทควบรวมได้) ซึ่งทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาเปิดเผยว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ดังนั้น การควบรวมสามารถทำได้ตามนัยมาตรา 153 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยคลื่นความถี่ที่ทั้ง 2 บริษัทถืออยู่ จะยังคงอยู่ในบริษัทใหม่ที่ควบรวม ไม่ขัดต่อ ม.46 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.)
เรียกได้ว่า ข้อเรียกร้องเรื่องการโอนคลื่นความถี่ผ่านด่านสำคัญไปแล้วหนึ่งด่าน
แต่ดูเหมือนว่า ทาง สรท. ยังมีข้อกังวลใจ คือ ประเด็นการควบรวมต้องไม่กระทบต่อคดีทีโอทีฟ้องเรียกค่าเสียหาย ค่า Access Charge จากบริษัทเอกชนคู่สัญญาของ กสท ด้วยการควบรวมจะทำให้คดีพิพาทระหว่างทีโอทีและ กสท หมดสิ้นกันไป และจะเป็นเหตุให้บริษัทเอกชนยกเป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่า AC เพราะบริษัทเอกชนไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง เป็นเพียงผู้นำส่งค่า AC ให้ทีโอทีเท่านั้น
"คดีความเรื่องค่า AC ขณะนี้ได้มีการนำเสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอัยการสูงสุดพิจารณาในวันที่ 15 ม.ค. นี้" นายพงศ์ฐิติ กล่าว
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3433 ระหว่างวันที่ 6 - 9 มกราคม 2562