ขนส่งออนดีมานด์ แกร็บ-ลาล่ามูฟ แลกหมัดเดือด

28 ม.ค. 2562 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2562 | 17:29 น.
การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่มีตัวเลขการเติบโตปีละ 20-25% ทุกปี โดยตัวเลขประมาณการล่าสุดของเอ็ตด้าระบุว่าปี 2561 มูลค่ารวมอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท และปัญหาการจราจรอันเป็นอุปสรรคการเดินทางนั้นส่งผลให้ธุรกิจในระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็มของอี-คอมเมิร์ซ และบริการโดยสารสาธารณะ อย่างธุรกิจขนคน ขนของ ผ่านแอพพลิเคชันเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่จากทั้งมาเลเซียและเวียดนามและแคมเปญการตลาดที่ออกมา เชื่อว่าในปี 2562 บริการขนคน ขนของผ่านแอพ ในไทยนั้นจะกลายเป็นธุรกิจน่านนํ้าสีเลือด หรือเรดโอเชียน

แกร็บ เติบโตทุกบริการ

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าการแข่งขันในธุรกิจบริการ ขนส่งออนดีมานด์รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเข้าแข่งขันของคู่แข่งรายใหม่ๆ อย่างไรก็ตามในมุมมองของแกร็บ ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ช่วยสร้างการรับรู้ในบริการและ ช่วยผลักดันตลาดให้เติบโตขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าบริการของผู้ให้บริการรายใดเหมาะกับความต้องการใช้งานของตัวเองมากสุด

ธุรกิจของแกร็บมีการเติบโตในทุกบริการ โดยมียอดขนคน 100,000 เที่ยวต่อวัน ยอดส่งอาหาร 3 ล้านออเดอร์ ในปีที่ผ่านมา ยอดส่งของเติบโตขึ้น 2 เท่า ธุรกิจใหม่ทั้งรถเช่า แกร็บเร้นท์ และแกร็บแวน เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2562 แกร็บวางกลยุทธ์การขยายบริการเพิ่มเติมไปยังต่างจังหวัด 5 จังหวัด  โดยขณะนี้มีบริการใน 16 จังหวัด เพื่อรองรับกับความต้องการนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดเมืองรอง นอกจากนี้ยังมุ่งการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น ทั้งบัตรเครดิต ห้างสรรพสินค้า โตโยต้า โดยนำสิทธิประโยชน์ ต่างๆ มารวมกันให้กับลูกค้า ล่าสุดเตรียมจัดทำแคมเปญ “เฮง เฮง เฮง” รับเทศกาลตรุษจีนตลอดทั้งสัปดาห์ ส่วนบริการไมโครไฟแนนเชียล ที่ร่วมมือกับกสิกรไทย ให้บริการทางด้านการเงินกับผู้ใช้บริการ และคนขับนั้นคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปลายไตรมาสแรก หรือต้นไตรมาส 2

ลาล่ามูฟรุกบริการเต็มรูปแบบ

นายชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ ลาล่ามูฟ ประเทศไทย กล่าวว่าในปี 2562 ลาล่ามูฟวางแผนพัฒนาธุรกิจรวมถึงการขยายตัวการให้บริการที่เต็มรูปแบบมากขึ้น โดยการ นำเทคโนโลยีเชื่อมต่อ API เข้ามาเป็นตัวช่วยในการให้บริการสำหรับร้านค้า และ คู่ค้าในการทำธุรกิจที่สร้างผลกำไรมากขึ้น โดยสามารถสร้างแพลต ฟอร์มการสั่งและส่งสินค้าให้แก่ร้านค้าออนไลน์ได้เอง รวมไปถึงการ พัฒนาแอพพลิเคชัน และเว็บไซต์โฉมใหม่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า นอกจากนั้นยังมีแผนการขยายพื้นที่ให้บริการไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ พร้อมเพิ่มรถขนาดใหญ่

TP11-3439-A- สำหรับปี 2561 มีมูลค่าการทำธุรกรรมกว่า 1,200 ล้านบาท เติบโต 123% นับรวมระยะทางการให้บริการ กว่า 60 ล้านกิโลเมตร ทั้งนี้การเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นผลมาจากการขยายธุรกิจและการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง สร้างความแตกต่าง และ สามารถแข่งขันในตลาดธุรกิจขนส่งออนดีมานด์ที่มีผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้น

เปิดแอพ HaHa Taxi

ล่าสุดบริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่น แนล จํากัด (โฮวา) ผู้ให้บริการสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ ได้ประกาศความร่วมมือกับ มาสเตอร์การ์ด เปิดตัว “HaHa Taxi App” แอพพลิเคชันบนมือถือสำหรับเรียกรถแท็กซี่ ที่ช่วยให้ผู้โดยสารในกรุงเทพฯ สามารถใช้บริการและชำระค่าโดยสารรถแท็กซี่ที่ลงทะเบียนและได้รับใบอนุญาตแล้ว ได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่านแอพพลิเคชันเดียว

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,438 ระหว่างวันที่ 27-30 มกราคม 2562

595959859