การประกาศ Vision ก้าวสู่ Food Innovation Company ด้วยระยะเวลา 10 ปี กลายเป็นความท้าทาย "อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ผู้บุกเบิกและสร้างตลาดสาหร่ายพร้อมปรุงให้เกิดขึ้น และเป็นผู้นำในทุกวันนี้ แม้ภาพรวมตลาดสาหร่ายจะยังคงมีการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ แต่ด้วยการแข่งขันบนธุรกิจ การสร้างฐานธุรกิจที่หลากหลาย นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยง ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับองค์กร
"ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์" กับเส้นทางเดินบนความท้าทายใหม่
⁍ ขยายความ Vision ใหม่ของเถ้าแก่น้อย
"อิทธิพัทธ์" บอกว่า ตลอดเส้นทางธุรกิจของเถ้าแก่น้อยที่เดินทางมากว่า 10 ปี มีเป้าหมายที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นบริษัทขนมขบเคี้ยว หรือ สแน็ก ระดับโลก (Global Snack Company) ดังนั้น การดำเนินธุรกิจจึงมุ่งสร้างความแข็งแกร่งในประเทศควบคู่กับการขยายตลาดไปวางขายในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายที่จะมียอดขายกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 แต่วันนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงมองเป็นโอกาสในการที่จะก้าวสู่ตลาดโลกด้วยการพัฒนาและนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมด้านอาหาร หรือ Food Innovation Company
"เถ้าแก่น้อย" เริ่มสนใจให้ศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมมาระดับหนึ่ง สำหรับการก้าวสู่ Food Innovation Company ด้วยแนวคิดในการนำ New Formula มาผนึกร่วมกับ Business Model เพื่อให้ได้ Food Innovation (New Formula X Business Model = Food Innovation) หนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากแนวคิด Food Innovation คือ มายเวย์ (My Whey) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย และมุ่งทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก
"วิชันใหม่จะเน้นความยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับบิสิเนสโมเดลเดิม ๆ พัฒนาบิสิเนสโมเดลใหม่ ๆ เช่น ฟู้ด รีเทล อย่าง ร้าน "ฮิโนยะ เคอรี่" ร้านข้าวแกงกะหรี่ชื่อดังดีกรีแชมป์จากประเทศญี่ปุ่น หรือ แพลตฟอร์มใหม่ ๆ เช่น ฟู้ด ดีลิเวอรี รวมถึง "เถ้าแก่น้อย ทินเท็น" ปลาหมึกไข่เค็ม ที่เพิ่งวางขายไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับดีมาก ก็เป็น "นิว ฟอร์มูล่า" ที่คิดและพัฒนาขึ้นจากประเทศสิงคโปร์ และอนาคตก็จะเกิดการมิกซ์แอนด์แมตช์ จับคู่กับสินค้าอื่น ๆ พัฒนาออกมามากขึ้น"
⁍ ทำไมถึงรุกเข้าสู่สแน็กปลาหมึก
เถ้าแก่น้อยเป็นรายแรกในเมืองไทยที่ทำสแน็กปลาหมึกไข่เค็ม ซึ่งเป็นสูตรพิเศษที่ไม่มีคู่แข่งใดทำมาก่อน ด้วยความโดดเด่นที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว และเมื่อเป็นอาหาร สิ่งสำคัญ คือ รสชาติต้องดี อร่อย และมีประโยชน์ แตกต่างจากที่มีอยู่ในตลาด เมื่อทดลองทำตลาดก็ได้รับการตอบรับที่ดี และบริษัทมีแผนจะพัฒนารสชาติใหม่ออกวางจำหน่ายในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า
เป้าหมายของเถ้าแก่น้อยเองจึงเดินหน้าสร้างแบรนด์อย่างเต็มที่ ด้วยการนำ 6 สาว BNK48 มาเป็นพรีเซนเตอร์ และเป็นผู้นำเทรนด์ในเมืองไทย เพราะกระแสไข่เค็มเกิดขึ้นในสิงคโปร์เมื่อ 2 ปีก่อน และยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ทำให้มองว่า ด้วยรสชาติและความแตกต่าง จะทำให้คนไทยนิยมด้วยเช่นกัน และก็เป็นจริงดังคาดหมาย โดยเถ้าแก่น้อยทินเท็นถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ 2 ที่มีส่วนผสมของไข่เค็ม เพราะก่อนหน้านี้ บริษัทได้ทดลองวางจำหน่ายสาหร่ายเทมปุระไข่เค็มออกทำตลาดตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
⁍ แผนงานต่อไปของเถ้าแก่น้อย
"อิทธิพัทธ์" บอกว่า เตรียมเปิดตัวอีก 2 โปรเจ็กต์ใหญ่ ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเป็นการตอบยํ้าความเป็น "ฟู้ด อินโนเวชัน" อีกทั้งรองรับตลาดที่เริ่มขยับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1 พบว่า การบริโภคเริ่มกลับมาอย่างเห็นได้ชัด จากปัจจัยบวกหลาย ๆ ด้าน รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและการลงทุนของภาคเกษตร ส่งผลให้ภาคเอกชนหลายแห่งเริ่มทำกิจกรรมมากขึ้นตามไปด้วย
พร้อมกันนี้ เถ้าแก่น้อยเองก็อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ "ฟู้ด อินโนเวชัน" เช่นกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คือ ปี 2572 ซึ่งจะส่งผลให้เถ้าแก่น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 เท่า จากปี 2561 ที่มีรายได้ราว 5,700 ล้านบาท ควบคู่ไปกับการเดินหน้าสร้างกำไรให้เพิ่มขึ้น และการรุกทำตลาดจีนต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา
"ฟู้ด อินโนเวชัน จะทำให้สินค้าไปสู่มือลูกค้าในระดับโลกมากขึ้น เมื่อเรามีคอนเทนต์มาก เราก็มีโอกาสต่อยอดธุรกิจได้มาก อนาคตจึงอาจเห็นสาหร่ายมิกซ์กับแกงกะหรี่ หรือจะเห็นแกงกะหรี่ในรูปแบบโฟรเซน มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ สามารถซื้อและนำกลับไปทานที่บ้านได้ ยิ่งมีคอนเทนต์มากเท่าไร เราก็สามารถมิกซ์แอนด์แมตช์และสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ ได้มากขึ้น"
สัมภาษณ์ หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3460 ระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน 2562