กำลังฮอตในช่วงนี้กรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯจากการบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ย 7% ต่อปี หลายคนจึงให้ความสนใจว่าเมกะโปรเจ็กต์หมื่นล้าน เกิดขึ้นยุคไหน สะดุดเมื่อใด
ประภัสร์โยน“ชาติชาย”
ทั้งนี้นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรฟท. ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าโครงการ “โฮปเวลล์” เกิดขึ้นในปี 2533 สมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับเพื่อแก้ปัญหาการจราจร ส่วนผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง ผลการประมูลพบว่า บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้งส์ฯ ของนายกอร์ดอน วู ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างของฮ่องกงเป็นผู้ชนะเหนือคู่แข่งคือ บริษัทลาวาลินฯ (SNC-Lavalin) จากแคนาดา
เมกะโปรเจ็กต์ค่ากว่าหมื่นล้านบาทโครงการนี้ได้มีการลงนามในสัญญาโดยนายมนตรี พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคกิจสังคม กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)ฯ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 มีอายุสัมปทาน 30 ปี กำหนดตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2535-5 ธันวาคม 2542 ในระยะแรกใช้ชื่อโครงการว่า Railways Mass Transit (Community Train) and Urban Free System
โดยทราบว่าขณะนั้นรฟท.ได้แบ่งแผนงานการก่อสร้าง เป็น 5 ระยะ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 5 ธันวาคม 2538 ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และ มักกะสัน-แม่นํ้าเจ้าพระยา ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 5 ธันวาคม 2539 ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 5 ธันวาคม 2540 ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และ ยมราช-บางกอกน้อย ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 5 ธันวาคม 2541 และช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธินิมิต และ ตลิ่งชัน-บางกอกน้อย ระยะทาง 9.1 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 5 ธันวาคม 2542
โครงการนี้รัฐบาลไทยไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเองเพราะโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองโดยใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานถึง 8 ปี
ประการสำคัญช่วงแรกเริ่มโครงการนี้ที่มีการนำเสนอรายละเอียดเป็นกระดาษไม่กี่แผ่น ไม่มีผลการศึกษาความคุ้มค่าด้านการลงทุนประกอบการเสนอรัฐบาล เพียงแต่ได้แรงหนุนจากอิทธิพลทางการเมืองในช่วงนั้น อีกทั้งเมื่อเข้าสู่ภาคปฏิบัติกลับพบว่าการก่อสร้างโครงการเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ ประกอบกับเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร ทำให้แนวโน้มการลงทุนธุรกิจในอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง จนความคืบหน้าของงานไม่เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาล
เหตุความล่าช้าจากปัจจัยต่างๆนั้นจึงเป็นผลให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หลายรัฐบาลไม่กล้าบอกเลิกสัญญา ต่อมาในปี 2534 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดที่มีเงื่อนไขการผูกขาด “โฮปเวลล์” ก็เป็นโครงการหนึ่งที่ถูกตรวจสอบโดยนายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น และได้ประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน โดยจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครขึ้นมาดำเนินการแทน เมื่อปี 2535
ยังมีลุ้นคดีแพ่ง
ผ่านช่วงดำเนินการมานานถึง 7 ปีแต่กลับพบว่ามีความคืบหน้าเพียง 13.7% ท้ายที่สุดในปี 2539-2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเห็นชอบตามที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นนำเสนอให้มีการยกเลิกสัญญาสัมปทานก่อนที่โครงการจะสิ้นสุดลงในสมัยนายชวน หลีกภัย จะมีการบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2541
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3464 ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
● ศาลปกครองกลางยกคำขอ"คมนาคม"ไม่รื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์
● “เสียค่าโง่”โฮปเวลล์ ศาลสั่งรฟท.จ่าย 1.2 หมื่นล้านบาท+ดอกเบี้ย
● ฟื้นคดี ค่าโง่โฮปเวลล์ ก่อนเฉือนที่ดินรถไฟจ่าย
●หนังสือลับ ‘ขายโฮปเวลล์’ ไม้เด็ดรื้อค่าโง่ 2.5 หมื่นล้าน!
●อัยการยื่นศาลปค.รื้อค่าโง่โฮปเวลล์1.2หมื่นล้านแล้ว
●เชิญโฮปเวลล์เจรจาเคลียร์หนี้1.2หมื่นล้าน
●ลึก-ลับ ‘ผู้สร้างตอม่อโฮปเวลล์’ กับ ‘ค่าโง่แห่งชาติหมื่นล้าน’ (จบ)
●รฟท.ยันตั้งคณะทำงานสู้ค่าโง่โฮปเวลล์เสร็จสัปดาห์นี้
●“กุลิศ”ยัวะ จ่ายบานค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5หมื่นล้าน
●ค่าโง่โฮปเวลล์ 1.18 หมื่นล้านมากขนาดไหน
●ย้อนรอย...ค่าโง่โฮปเวลล์2หมื่นล้าน