สมาคมโทรคมนาคมผนึกบริษัทยักษ์สื่อสารเอไอเอส-ดีแทค-ทีโอที-กสท ตบเท้าร้องนายกฯ
รื้อสัญญาสัมปทาน “ทรู” วางท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินยาว 30 ปี มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้าน หวั่นผูกขาดกีดกันการแข่งขัน
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางเมื่อ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพ มหานคร (กทม.) ผู้ดำเนินโครงการโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินได้ลงนามในสัญญากับ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับสัมปทานติดตั้งและทำการตลาดท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินทั้งหมดของกทม.มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยกทม.ตั้งเป้าภายใน 2 ปี จะนำสายสื่อสารตามถนนสายหลักและสายรอง ความยาวรวม 2,450 กิโลเมตร ลงใต้ดินทั้งหมด แบ่งเป็น 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯเหนือ กรุงเทพฯตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ โดยภายในปี 2562 นี้ จะต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 150 กิโลเมตรขึ้นไป
สมาคมโทรคมฯร้องนายก
ล่าสุดสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทีี่มีสมาชิกเกือบ 1,400 ราย เตรียมส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อทบทวนและพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ก็ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ตามแผนที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ดีอี ไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมทั้งยังได้จัดทำแผน จัดระเบียบ และนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ด้วยการจัดตั้งคณะทํางาน ศึกษาและจัดทำโมเดลร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อที่จะหาโมเดลที่เหมาะสมรองรับเพราะในบางพื้นที่นั้นไม่จำเป็นจะต้องนำสายสื่อสารลงดิน
สมาคมโทรคมฯและผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของกทม.ขัดแย้งกับมติคณะกรรมการดีอีและนโยบายรัฐบาลที่สับสนุนให้ ทีโอที ดำเนินโครงการมหานครอาเซียน และให้ ทีโอที เยียวยาและลดค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสาร แต่ กทม. กลับมีหนังสือ เวียนไปยังทุกสำนักงานเขตห้ามหน่วยงานอื่นๆ ก่อสร้าง หรือขุดขยายถนนเพื่อติดตั้งท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน รวมทั้งการพาดสายสื่อสารใดในเขตกรุงเทพ มหานคร
“เท่ากับว่าปิดล็อกทีโอที และ สมาคมโทรคมนาคมฯ ให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องมาเช่าโครงข่ายท่อร้อยสายของ กรุงเทพธนาคม จึงกังวลว่าจะเกิดการผูกขาด และนำเงื่อนไขต่างๆมาใช้กีดกันการดำเนินธุรกิจของเอกชนรายอื่น สมาคมนำโดยนายมนต์ชัย หนูสูง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ในฐานะประธานสมาคม จึงหารือร่วมกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่เป็นสมาชิก และมีความเห็นตรงกันว่าจะทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการให้สัมปทานของกทม.ในครั้งนี้ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งเอไอเอส ดีแทค กสท ทีโอที”
โอดราคาค่าเช่าสูง
ก่อนหน้านี้ทีโอทีได้มีการนำสายสื่อสารที่นำลงดินไปแล้ว 35 กิโลเมตร ในอัตราค่าเช่าท่ออยู่ที่ 20,000 บาทต่อ
Sub Duct 1 นิ้วต่อกิโลเมตรต่อเดือน คิดเป็นเงิน 1,864,000 บาทต่อเดือน ต่อมาดีอีได้มีมติครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 เห็นชอบให้ ทีโอที ปรับลดอัตราค่าเช่าท่อร้อยสายใต้ดินภายใต้โครงการมหานครอาเซียนระยะทาง 127.3 กิโลเมตรเหลือ 9,650 บาทต่อSub Duct ต่อกิโลเมตรต่อเดือน โดยใน 1 Sub Duct สามารถรองรับท่อร้อยสายสื่อสารขนาดเล็กได้ 3 Micro Duct
ขณะที่ กรุงเทพธนาคม กำหนดอัตราค่าเช่า 7,000-9,000 บาทต่อMicro Duct ต่อกิโลเมตรต่อเดือน เมื่อคำนวณด้วยระยะทาง 2,343 กิโลเมตร ดังนั้นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีต้นทุนเพิ่มจากค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่บริษัทกรุงเทพธนาคมฯกำหนดขึ้น คิดเป็นเงิน 16.4-21.1 ล้านบาทต่อ Micro Duct ต่อกิโลเมตรต่อเดือน
เป็นจำนวนเงิน 196.8-253.2 ล้านบาทต่อ Micro Duct ต่อกิโลเมตรต่อปี มีผลต่อผู้ประกอบการโทรคมนาคมขนาดกลางและเล็ก ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า
โอเปอเรเตอร์จ่อฟ้อง
“โอเปอเรเตอร์ไม่ตํ่ากว่า 5 ราย รู้สึกกังวลค่าเช่าท่อร้อยสายราคาจะสูงกว่าของ ทีโอที จึงประชุมและระดมความเห็นกันว่าจะดำเนินการฟ้องร้องกทม.หรือไม่”
นายสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี และรักษาการประธานกรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการเจรจาร่วมกันและรับทราบแล้ว ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการนำสายไฟฟ้าลงดินให้เกิดความสวยงามและเป็นประโยชน์ต่อสังคม “ต้องตรวจสอบรายละเอียดในเรื่องนี้ก่อน หากไม่ตรวจสอบจะเกิดความขัดแย้ง”
แหล่งข่าวจากสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือ สร.กสท กล่าวว่าขณะนี้กำลังเก็บข้อมูลกระบวนการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ เนื่องจากการนำเอาท่อร้อยสายลงดินตามระเบียบเดิมให้กสท กับ ทีโอที เป็นผู้ดำเนินการต่อมาภายหลังกรุงเทพมหานคร ต้องการบริหารจัดการเองโดยให้บริษัทลูกดำเนินการ
ด้านแหล่งข่าวจาก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ยังไม่ดำเนินการในเรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดและตรวจสอบก่อน
ทรู ลั่น!ไม่ได้ผูกขาด
ขณะที่แหล่งข่าวจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทรู ไม่ได้ผูกขาดเพราะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้สนใจจะลงทุนในเรื่องนี้ กลุ่มทรูมีบริษัทในเครือหลายบริษัทแบ่งความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ
“กทม.ได้สิทธินำสายไฟลงดินทั่วกรุงเทพมหานคร จึงได้มอบหมายให้ กรุงเทพธนาคม จัดประกวดราคา ทรูอินเตอร์เน็ต ได้ยื่นข้อเสนอเข้าไปและได้รับการคัดเลือกเป็นผู้รับเหมานำสายไฟฟ้าลงดินอันนี้เป็นสิทธิของ กทม.ทางดีอี ไม่มีสิทธิ เหมือนกับที่ พัทยา มีโมเดลเช่นนี้เหมือนกันแต่สิทธิการบริหาร คือ เทศบาล” แหล่งข่าวให้ความเห็น
นายพิเชฐ ดรุงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยังไม่เห็นมีข่าวว่าฟ้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,481 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
● คุ้ยหลักฐาน กทม.ส่อพิรุธท่อร้อยสาย
● “สมเกียรติ”อัด กทม.ให้เอกชนผูกขาดท่อร้อยสาย
● แจงสัมปทานท่อร้อยสาย 2หมื่นล้าน30ปีโปร่งใส
● เปิดปูมท่อร้อยสาย 2หมื่นล้าน
● ทรูร่อนหนังสือแจงยังไม่ลงนามสัญญาท่อร้อยสายกทม.
● เบื้องหลังกทม.หักดิบ ยึดโครงการท่อร้อยสาย2หมื่นล.
● 6ยักษ์สื่อสารจี้นายกฯ เบรกท่อร้อยสายกทม.2หมื่นล.
● ท่อร้อยสายวุ่น จ่อรื้อสัญญาทรู
● ไขปม ท่อร้อยสาย ให้สิทธิ์เอกชน80%ไม่ผูกขาด
● ใคร...ลุยไฟ ใช้เงิน2.5หมื่นล้าน เพื่อสัมปทานท่อร้อยสาย 30ปี
● บิ๊กกรุงเทพธนาคม โต้ทุกข้อกล่าวหา ท่อร้อยสายสื่อสาร 2 หมื่นล้าน
● กทม.ลักไก่ ท่อร้อยสาย ไร้ราคากลาง
● ท่อร้อยสายใต้ดิน โอนผูกขาด อำนาจรัฐสู่เอกชน
● ‘รสนา’ชี้ทิ้งทวนท่อร้อยสาย ก่อนหมดวาระผู้ว่าฯกทม.
● สหภาพแคทฯ ร้องนายก ค้านท่อร้อยสาย
● ‘TOT-CAT’ ดับเครื่องชน ท่อร้อยสายกทม.
● ‘ทีโอที’ฮึดสู้! ปรับราคาท่อร้อยสาย
● 'กทม.' หน้ามืดตามัว มีใบอนุญาต 15 ปี ให้สัมปทาน 30 ปี
● ชำแหละผูกขาด ท่อร้อยสาย 2.5 หมื่นล้าน
● ธนาคมฯฝืนกระแสจ่อเซ็นสัญญากับทรูฯ มูลค่า 2.5 หมื่นล้าน
● กสทช.สั่งรื้อโครงการท่อร้อยสายกทม.
● จ่อฟันโครงการท่อร้อยสาย ชี้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 50 จัดการแน่!