กรุงเทพธนาคมตอบข้อสงสัยเรื่องโครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ค่ากว่า 2 หมื่นล้าน ยันโปร่งใสในการสรรหาผู้รับเหมางาน(EPC) และผู้ใช้บริการความจุ ทั้งการยื่นข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ทางเทคนิค และทางการเงินเพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งงาน คาดงานโยธา EPC จะสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนนี้
นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยในการแถลงตอบข้อสงสัยต่อโครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร(กทม.)ว่า โครงการดังกล่าวจัดว่าเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกทม.โดยได้รับมอบหมายจากกทม.เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561
“เคทีก่อสร้างโครงข่ายเองและลงทุนเองทั้งหมด ต้องการหาผู้ใช้บริการที่มีศักยภาพ และไม่ได้ปิดกั้นรายอื่นๆด้วย โดยได้แบ่งความจุออกไป 80% ส่วนอีก 20% จะเปิดไว้รองรับรายอื่นๆ การคิดราคาไม่ได้คิดกำไร แต่เป็นการคิดจากต้นทุนที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดโดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกสทช. ทั้งนี้ยังเป็นการสนองนโยบายของรัฐที่สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันได้ โดยการศึกษาไว้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจริงไม่เกิน 10 ราย โดย 1 เส้นรองรับได้มากถึง 216 แกนจึงรองรับได้อย่างเพียงพอ”
นายเอกรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการสายยุทธศาสตร์และพัฒนาเมือง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที กล่าวว่า เมื่อเดือนม.ค. 2562 ได้ดำเนินการสรรหาผู้รับเหมางานโยธา(Engineering-Procurement-Construction : EPC) ทั้ง 4 โซนพื้นที่เพื่อออกแบบทางวิศวกรรม โดยมีผู้รับเอกสารทั้งสิ้น 55 ราย มายื่นข้อเสนอ 8 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 3 ราย และได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 62 จำนวน 3 ราย ประกอบไปด้วย พื้นที่ 1.โซนกรุงเทพเหนือ กิจการร่วมค้า เอสซีแอล,เอสทีซี และฟอสส์ พื้นที่ 2 กรุงเทพตะวันออก กิจการร่วมค้า เอดับบลิวดี พื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ กิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี และพื้นที่ 4 กรุงธนใต้ กิจการร่วมค้า เอสซีแอล,เอสทีซี และฟอสส์
นอกจากนั้นเคทียังดำเนินการสรรหาผู้ใช้บริการ สรรหาแหล่งเงินทุน ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง โดยกระบวนการสรรหาผู้ใช้บริการหลักนั้นได้เปิดให้ลงชื่อแสดงเจตจำนงในการยื่นข้อเสนอใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม จำนวน 9 ราย อีกทั้งเคทียังได้ส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จำนวน 16 ราย รวมเป็น 25 ราย ปรากฎว่ามีผู้รับเอกสารเชิญชวน 16 ราย แต่มีเพียง 1 รายที่ยื่นข้อเสนอ คือ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผ่านเกณฑ์คัดเลือกตามมาตรฐานที่กำหนดเมื่อวันที่ 24 พค. 2562
“ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเรื่องราคา ยังไม่ได้ลงนามสัญญาใดๆ ยืนยันว่ารูปแบบดำเนินโครงการไม่เข้าหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ไม่ได้มีการให้สัมปทาน หรือมีการโอนสิทธิ์แต่อย่างใด”
สำหรับประเด็นคำถามกรณีตัวเลขค่าบริการสูงถึง 21,000-27,000 บาท/ซับดัก/กิโลเมตร/เดือนนั้น นายเอกรินทร์กล่าวว่า ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการแต่อย่างใด เนื่องจากการกำหนดอัตราค่าบริการของโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระนาวเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในการกำกับดูแลและกำหนดราคาโดยตรง
“เคทีและผู้ใช้บริการหลักไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการรายอื่นเกินกว่าอัตราที่กสทช. กำกับและกำหนดได้ ดังนั้นประเด็นราคาค่าบริการโครงข่ายท่อร้อยสายของเคจะแพงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นถึง 3เท่านั้นจึงไม่เป็นความจริง”
ประการสำคัญโครงการในครั้งนี้กทม.ลงทุนใหม่ คุ้มค่ากว่าและยังสามารถใช้งานได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือ 50 ปี โดยเคทีเลือกใช้เทคโนโลยีไมโครดักเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต ประหยัดพื้นที่ใต้ฟุตบาท และไม่ซ้ำซ้อนกับท่อร้อยสายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่มีท่อร้อยสายอยู่เดิมในขณะนี้และอยู่ใต้ถนน
“ท่อเดิมของทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) มีใช้งานอยู่นั้น กทม.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวจึงไม่ถือเป็นการผูกขาด โดยกทม.จะวางโครงข่ายท่อร้อยสายใหม่ทั่วกรุงเทพฯซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จเคทีจะเปิดให้ทุกบริษัทสามารถเช่าท่อร้อยสายได้อย่างเสมอภาค ในราคาที่เป็นธรรม ภายใต้การกำหนดราคาของ กสทช. และให้กทม.ได้ร่วมใช้ในกิจการของกทม.โดยไม่คิดค่าบริการอีกด้วย”