อิชิตัน กรุ๊ป ตัดใจทิ้ง “ไบเล่-T247” ยกเครื่องพอร์ต เน้นสินค้าทำเงิน ศักยภาพสูง พร้อมรุกธุรกิจเทรดดิ้ง ซื้อมาขายไป เลี่ยงลงทุนเอง หวังบริหารจัดการความเสี่ยงจากการลงทุน พร้อมสร้างรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ผู้ผลิตและจำหน่ายชาพร้อมดื่มอิชิตัน,เย็น เย็น เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของบริษัทจะให้ความสำคัญกับการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ 3N ทั้ง New Product, New Market และ New Business เพื่อรุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ หลังจากช่วงที่ผ่านมามีการนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้ และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของสินค้าใหม่ และกลุ่มธุรกิจโออีเอ็มที่เริ่มมีรายได้และลูกค้าเข้ามามากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรายได้ 1 หมื่นล้านบาท
โดยแนวทางการดำเนินธุรกิจ บริษัทได้ปรับโพสิชันนิงขององค์กร ให้เป็นบริษัทที่ลงทุนกับธุรกิจที่มีศักยภาพและมีอนาคตทางการเติบโต และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆได้ทำงานนำเสนอมุมมองใหม่ๆในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ ไม่ใช่ธุรกิจเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว ดังนั้นบริษัทจึงปรับพอร์ตสินค้า ด้วยการยกเลิกการทำตลาดและจำหน่ายแบรนด์ ไบเล่ , T247 และชาเขียว บางขนาดที่ไม่ได้รับความนิยม เพื่อบาลานซ์พอร์ตธุรกิจ โดยคงเหลือไว้เพียงแบรนด์อิชิตัน,เย็น เย็น และชิซึโอกะ
นอกจากนี้ยังลดขนาดของการจัดแคมเปญซัมเมอร์ จากปกติบิ๊กแคมเปญใช้เงิน 80-120 ล้านบาทต่อแคมเปญ เหลือเพียง 10-20 ล้านบาทต่อแคมเปญ พร้อมลดงบกิจกรรมทางการตลาดตลอดทั้งปีลงจากปีที่ผ่านมาที่ใช้ 514.6 ล้านบาท เหลือ 410 ล้านบาท ในปีนี้ และรูปแบบของแคมเปญเน้นเทเลอร์เมด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแยกย่อยเจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
ด้านแนวทางการพัฒนาสินค้าใหม่ก็มีแต่อาจจะไม่มากเหมือนในอดีต แต่จะเน้นเปิดตัวสินค้าใหม่ตามซีซันนัล ที่มีอายุการวางจำหน่าย 3 เดือนและหากโปรดักต์ไหนขายดีก็จะขายต่อไป ขณะที่แบรนด์ชิซึโอกะ จากเดิมที่วางพรีเมียมปรับเป็นพรีเมียมแมส ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาด 37% เป็นที่ 1 ในตลาดนี้ ขณะที่กลุ่มชาเขียวแบรนด์อิชิตัน จะเป็นการทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น จากเดิมที่กลุ่มอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มเด็กที่มีอายุ 12-18 ปีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับมือการีน่า ฟรีไฟร์ ในบรรจุภัณฑ์อิชิตันที่เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการขยายฐาน และการโฟกัสที่ขนาดราคา 10 บาท เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย
นายตัน กล่าวอีกว่า บริษัทมีแผนเปิดตัวธุรกิจใหม่ ที่เน้นซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง)ในเร็วๆนี้ และจะขยายไปทั้งในและต่างประเทศผ่านเครือข่าย พาร์ตเนอร์ ที่มีอยู่ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ดังนั้นบริษัทจึงไม่อยากทุ่มการลงทุนหลักพันล้านไป แล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือต่อให้ประสบความสำเร็จแล้วเกิดความเสียหายในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยง
“การทำสินค้าใหม่ต้องเน้นสร้างแบรนด์ในไทยให้แข็งแกร่งที่อินโดนีเซียเรามีหน้าร้านอยู่ 1.3 หมื่นร้านค้า หรือประเทศ อื่นๆ ที่มีดิสตริบิวชันในการขายของ ในอนาคตจะขายแต่ชาอย่างเดียวไม่ได้ โดยเน้นสินค้าราคาถูก อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันหรืออะไรก็ได้ที่หลากหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการหนีเรดโอเชียนในธุรกิจชาพร้อมดื่มที่ต้องมีการสร้างความหลากหลายให้แก่บริษัท”
ขณะที่ตลาดต่างประเทศนั้นบริษัทจะไม่มีการลงทุนใดๆเพิ่มเติมอีก ยกเว้นในอินโดนีเซียที่มีการลงทุนไปก่อนหน้านี้ แต่จะหันมาให้ความสำคัญกับรูปแบบการซื้อมาขายไป หรือการเป็นเทรดดิ้ง โดยยุทธศาสตร์ในแต่ละประเทศจะต่างๆ กันออกไปแต่ละประเทศเพื่อบริหารความเสี่ยง โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ไปทำธุรกิจต่างประเทศมาก็มีการเข้าไปดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และจีนในหลายมณฑล
อย่างไรก็ตามการเติบโตดังกล่าวถือเป็นแนวโน้มที่ดีในตลาดชาเขียวเมืองไทยที่มีการฟื้นตัวในรอบ 5-6 ปี เนื่องจากผู้บริโภคหันมาดื่มชาพรีเมียมมากขึ้น ขณะที่วิกฤติในเรื่องมาตรการภาษีความหวานในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มได้ผ่านพ้นมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้มาตรการภาษีนํ้าตาลไม่ส่งผลกระทบโดยในตลาด สินค้าของบริษัทมีเพียง 1 รายการที่มีปริมาณนํ้าตาลเกิน 10% ส่วนที่เหลือได้รับตราทางเลือกเพื่อสุขภาพและไม่มีปริมาณนํ้าตาลเกินมาตรฐานแต่อย่างใด โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ตลาดรวมชาพร้อมดื่ม มีมูลค่า 6,439 ล้านบาท หรือ 161 ล้านลิตร เติบโต 5.5% จากงวดเดียวกันปีที่แล้วมี 6,106 ล้านบาท หรือปริมาณ 155.8 ล้านลิตร คาดว่าตลาดรวมปีนี้จะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น เนื่องจากการพยายามผลักดันตลาดของผู้ประกอบการ พฤติกรรมผู้บริโภค และการเติบโตในกลุ่มตลาดชาพรีเมียม
หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3501 ระหว่างวันที่ 1 - 4 กันยายน 2562