“สนธิรัตน์” ยอมถอย เล็งแก้ไขกฎกระทรวง รื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม ปลดล็อกวางเงินหลักประกันกว่า 1 แสนล้าน หวั่น 4 บริษัทยักษ์ใหญ่พลังงานยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการกระทบการผลิต ก๊าซสะดุด ผู้รับสัมปทานจี้เจรจาหาทางออก
ใกล้ถึงเส้นตายมาทุกขณะที่ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ ดำเนินงานโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น และแหล่งบงกช ดำเนินงานโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ฯจะต้องวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย หลังหมดสัญญาสัมปทานปี 2565-2566 รวมจำนวนกว่า 300 แท่น หรือคิดเป็นมูลค่ารวมราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะครบในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 หรือเหลือเวลากว่า 40 วัน หลังจากที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ส่งหนังสือถึงผู้รับสัมปทานจะต้องวางหลักประกันค่ารื้อถอนเต็มจำนวนเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ไม่วางประกันเต็มจำนวน
ทั้งนี้ ในกฎกระทรวง เรื่อง กําหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ระบุไว้ว่า หากผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการวางหลักประกันเต็มจำนวนที่แจ้งไป ภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 2% ต่อเดือนของจํานวนหลักประกันที่ต้องวาง ซึ่งทางผู้รับสัมปทานเห็นว่า ไม่เป็นการยุติธรรม เนื่องจากแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ส่งมอบคืนรัฐไปทั้งหมด แต่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อเกือบครึ่งหนึ่ง จึงไม่สมควรที่จะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้
อีกทั้ง กฎกระทรวงที่ออกมาปี 2559 เป็นการกำหนดรายละเอียดออกมาภายหลัง ซึ่งไม่มีอยู่ในสัญญาสัมปทานปี 2515 ทั้งการวางหลักประกันเต็มจำนวน และการนำแท่นปิโตรเลียมไปใช้ประโยชร์ต่อ ดังนั้น หลักเกณฑ์ที่ออกมาจึงไม่มีผลย้อนหลัง โดยผู้รับสัมปทานจะจ่ายค่ารื้อถอนหรือวางหลักประกันเฉพาะที่รัฐไม่นำแท่นไปใช้ประโยชน์เท่านั้น และหากภาครัฐยังยืนยันเช่นเดิม ก็จะส่งเรื่องดังกล่าวให้อนุญาโต ตุลาการพิจารณา ก่อนที่จะครบกำหนดในการวางหลักประกันวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ซึ่งหมายความว่าจะมีผลไปถึงการส่งมอบทรัพย์สินของผู้รับสัมปทานให้กับรัฐยืดเยื้อออกไป และไม่สามารถนำแท่นที่ส่งมอบนำไปใช้ประโยชน์หลังปี 2565-2566 ได้ และจะมีผลต่อการผลิตปิโตรเลียมสะดุดลง กระทบต่อการจัดหาก๊าซในประเทศ
เล็งแก้กฎกระทรวงใหม่
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้แล้ว มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่จะมาพิจารณาข้อกฎหมายที่แต่ละฝ่ายมีการตีความที่แตกต่างกัน รวมถึงการเจรจาให้ได้ข้อยุติเพื่อไม่ให้นำไปสู่กระบวน การฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการ และให้การผลิตปิโตรเลียมช่วงรอยต่อมีความต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ
ส่วนวิธีการจะดำเนินงานอย่างไรนั้น คณะทำงานต้องไปพิจารณาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ จะเป็นการแก้ไขกฎกระทรวงในหลายข้อ ที่เป็นปัญหา ให้ได้ข้อยุติ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา หรือการเปิดเจรจากับผู้รับสัมปทาน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ 2 ฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ยังมีเวลาพอก่อนที่จะครบกำหนดในการวางหลักประกันการรื้อถอนในเดือนตุลาคม 2562
กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง
แหล่งข่าวจากวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีหนังสือแจ้งให้มาวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมเต็มจำนวน ที่ต้องส่งมอบคืนรัฐ ถึงวันนี้กว่า 70 วัน ยังไม่มีการนัดหารือหรือเจรจาหาทางออกในเรื่องนี้แต่อย่างใด ทางผู้รับสัมปทานยืนยันแล้วว่า จะไม่ยอมวางหลักประกันเต็มจำนวน เพราะรัฐนำแท่นไปใช้ประโยชน์ต่อ ก็ควรให้ผู้ใช้ประโยชน์จากแท่นรับภาระแทน และกฎกระทรวงที่ออกมาปี 2559 เป็นการกำหนดรายละเอียดมาภายหลัง ซึ่งไม่มีกำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานที่ทำไว้ปี 2515 ระบุไว้เพียง หากรัฐไม่นำไปใช้ประโยชน์ทางผู้รับสัมปทานจะทำการรื้อถอนให้ทั้งหมดตามหน้าที่ ไม่มีการวางหลักประกัน ที่เป็นปัญหาเพราะออกกฎหมายมาบังคับใช้ย้อนหลัง และที่ผ่านมาผู้รับสัมปทานได้มีการหารือกับภาครัฐไปแล้ว ก่อนที่กฎกระทรวงจะมีผลใช้บังคับ แต่ภาครัฐก็ไม่สนใจ
จี้เร่งเจรจาหยุดเส้นตาย
อีกทั้ง วันนี้เองภาครัฐก็ยังไม่ทราบว่าจำนวนแท่นที่ส่งมอบคืนให้กับรัฐไปจะนำไปใช้ประโยชน์จำนวนกี่แท่น ไม่มีความชัดเจน และพยายามจะให้ผู้รับสัมปทานวางหลักประกันค่ารื้อถอนทั้งหมดจึงไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเม็ดเงินมหาศาล และเป็นภาระด้านการเงิน อีกทั้ง จะต้องใช้เงินเป็นค่ารื้อถอนอีกส่วนหนึ่งด้วย
“มองว่ารัฐต้องหาวิธีการหยุดเวลา ไม่ให้เส้นตายที่กำหนดมาเป็นเงื่อนไขในการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งการแก้ไขกฎกระทรวงก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่จะทันระยะเวลาที่เหลือกว่า 40 วันหรือไม่ เพราะต้องผ่านการพิจารณาหลายขั้นตอน หรือจะส่งหนังสือขอแก้ไขในรายละเอียด ของหนังสือที่แจ้งไปก่อนหน้านี้ใหม่ หรือการทำข้อตกลงร่วมกัน(เอ็มโอยู) ที่จะมาหาทางออกเรื่องนี้ ก็เป็นแนวทางที่ทำได้”
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลัง งานครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายนนี้ จะมีเวทีการประชุมทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งกระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงานและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้พบปะเจรจาระหว่าง โดยมีวาระที่นายสินธิรัตน์ จะพบปะและหารือกับระดับรัฐมนตรีของสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะมีประเด็นเรื่องค่ารื้อถอนของบริษัทเชฟรอนฯหารือในครั้งนี้ด้วย หลังจากเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางสภานักธุรกิจอาเซียน-สหรัฐ หรือ US-ABC นำโดยบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ นำคณะได้หารือกับนายสินธิรัตน์ ไปก่อนหน้านี้แล้ว
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3501 วันที่ 1-4 กันยายน 2562