ฟังชัดๆ!!!คำต่อคำจากตัวแทนลูกจ้าง

14 ต.ค. 2562 | 05:29 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2562 | 12:38 น.

 

     เศรษฐกิจโลกซบเซา เชื่อมโยงมาถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่แตะเบรกไปด้วย โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยปัญหาส่วนใหญ่มาจาก 2 สาเหตุหลักคือผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอก  และผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายใน  เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเป็นเสมือนห่วงโซ่ และเปรียบเสมือนฮับด้านการผลิตอุตสาหกรรมสนับสนุน  มีทุนข้ามชาติเข้ามาลงทุน ผลิตแล้วส่งออกไปยังประเทศที่3  หรือส่งกลับไปยังบริษัทแม่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำไปต่อยอดผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง เพื่อแสวงหากำไร  ในขณะที่ฐานการผลิตไทยกลายเป็นรฐานผลิตชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพียงน้อยนิด กับการมาใช้แรงงานไทยราคาถูก!!!

     “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ ชาลี ลอยสูง  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโลหะแห่งประเทศไทย ที่มีความเป็นห่วงว่าการเข้ามาลงทุนในลักษณะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นเฉพาะชิ้นส่วนจะสามารถโยกย้ายฐานผลิตได้ง่าย  ยิ่งเศรษฐกิจโลกซบเซายิ่งมองเห็นภาพชัดเจนว่าหลายบริษัทออกมาลดต้นทุน และที่ง่ายที่สุดคือการลดต้นทุนด้านแรงงานทั้งแรงงานประจำและโดยเฉพาะแรงงานเอาต์ซอร์ซ สามารถเลิกจ้างง่ายไม่มีภาระผูกพันธ์  ขณะเดียวกันก็จะมองเห็นภาพการเติบโตของแรงงานเอาต์ซอร์ซ

“น่าเป็นห่วงว่าต่อไปแรงงานจะไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ชีวิตครอบครัวก็ไม่มั่นคง เพราะไม่รู้จะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่”

-จับตาแรงงาน 2 กลุ่ม

นายชาลีตั้งข้อสังเกตว่า แรงงานที่น่าจับตาในขณะนี้คือแรงงานที่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีมูลค่าการส่งออกลำดับต้นๆของประเทศ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์  และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์   โดยขณะนี้ในวงการแรงงานมีการจับตาว่าอุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถอีวี  ดังนั้นชิ้นส่วนรถยนต์ต่อรถยนต์ 1 คัน ที่เคยมีมากกว่า 30,000 ชิ้น ก็จะลดลงเหลือ 3,000 ชิ้น ก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ  ถ้าผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไม่ปรับตัวก้าวไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่กระทบแน่นอน  และผู้ใช้แรงงานก็จะเป็นด่านแรกที่กระทบก่อนเพราะจำนวนผู้ใช้แรงงานจะลดลงด้วย  เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  ที่ขณะนี้หลายบริษัทตกที่นั่งลำบาก ด้วยผลจากการปรับตัวทางเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามา รวมถึงการระเบิดศึกสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เขย่าฐานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายรายการที่ปักฐานในไทย  เพราะเป็นแหล่งผลิตที่ต้องส่งออกไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปในจีน เมื่อจีนได้รับผลกระทบก็สะเทือนเป็นลูกโซ่

ฟังชัดๆ!!!คำต่อคำจากตัวแทนลูกจ้าง

นายชาลี กล่าวยอมรับว่า ปี 2563 อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อภาคการผลิตในไทยโดยสรุปจะมีทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซรามิก สิ่งพิมพ์และธนาคาร ที่งานหน้าเคาน์เตอร์มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน  น้อยลง ตรงนี้ทำให้ภาคแรงงานมีคำถามมาตลอดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ภาครัฐจะมีวิธีการรับมือป้องกันไว้อย่างไร โดยเฉพาะนับจากนี้ไปอีก 3-5 ปี แรงงานไทยจะเป็นอย่างไร

 ส่วนอาชีพที่มีอนาคต ยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่เด้งรับนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐและเอกชน  รวมถึง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายไฮเทค  ที่ล้อตามนโยบายรัฐ  นอกจากนั้นก็จะเป็น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว  อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น

นายชาลี กล่าวทิ้งท้ายอีกว่าแรงงานในระบบประกันสังคมปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 13-14 ล้านคน และมีแรงงานนอกระบบรวมภาคเกษตรแล้วราว 40 ล้านคน  และมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 2 ล้านคน แรงงานทุกกลุ่มยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวทั้งทางบวกและทางลบ