thansettakij
เปิดขั้นตอนการตรวจคุณภาพเหล็ก หลักฐานจากซากตึก สตง. ถล่ม

เปิดขั้นตอนการตรวจคุณภาพเหล็ก หลักฐานจากซากตึก สตง. ถล่ม

31 มี.ค. 2568 | 10:22 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2568 | 10:22 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าตรวจสอบคุณภาพเหล็ก หลังการเก็บหลักฐานจากซากตึก สตง. ถล่มทั้งหมด 28 เส้นจาก 3 บริษัท ระบุยังไม่ปรักปรำรายใด

นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ,วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  (วสท.) 

,ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ นำตัวอย่างเหล็กเส้น ที่เก็บจากตึก สตง.ถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค.จากเหตุแผ่นดินไหวมาตรวจสอบคุณภาพ ที่สถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยมาให้สถาบันเหล็กฯ ดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่

สำหรับเหล็กเส้นที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ และนำมาตรวจสอบคุณภาพมีจำนวน 28 เส้น มีทั้งหมด 7 ประเภท ประกอบด้วย 

  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น  
  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น 
  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน  6  เส้น  
  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน  2  เส้น 
  • เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน  7  เส้น 
  • เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2  เส้น 
  • ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน  5  เส้น 

โดยมาจาก 3 บริษัท คือ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS ( เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย)  

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าเวลานี้ยังไม่สามารถปรักปรำทั้ง 3 บริษัทได้ จนกว่าผลการตรวจสอบจะออกมาอย่างเป็นทางการ และให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยืนยันอีกครั้งว่า ผลของเหล็กนั้นเป็นบวกหรือลบ

สำหรับ ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเจ้าหน้าที่จะนำเหล็กทุกท่อน ที่เก็บมาจากจุดเกิดเหตุ มาตัดเป็นท่อนขนาด 1 เซนติเมตร จากนั้นนำไปตีแบน ก่อนจะนำไปวิเคราะห์หาค่าองค์ประกอบทางเคมีในเหล็กส่วนที่สอง เจ้าหน้าที่จะนำเหล็กเส้นมาวัดขนาดความยาว และชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำมาคำนวณค่ามวลต่อเมตรว่า เป็นไปตามมาตรฐานมอก.หรือไม่  

โดยผลการตรวจสอบเหล็กเส้นที่เก็บมาจากตึกสตง.ทั้งหมด คาดว่า จะใช้เวลาตรวจประมาณให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. หลังจากจะแจ้งให้สาธารณชนรับทราบต่อไป หากตรวจพบว่า เหล็กที่ใช้ไม่ได้มาตรฐานตามมอก. จะมีการตรวจสอบไปถึงผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า และดำเนินการให้ถึงที่สุดต่อไป แต่ถ้าผลการตรวจสอบออกมาพบว่า ถูกต้องตามมาตรฐานมอก.ก็ต้องแจ้งให้ทุกคนทราบ เพื่อความเป็นธรรมของผู้ประกอบการ