เอ็นไอเอ ดึงภาคอุตฯ – การศึกษา ปั้นฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ 9 สาขา หวังพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารตอบโจทย์ “ครัวโลก” ร่วมมือ ไทยยูเนี่ยน และคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล เปิดตัว 23 สตาร์ทอัพ ที่ผ่านการคัดเลือกโครงการ สเปซ-เอฟ (SPACE-F)
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อม เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนธุรกิจอาหาร ทั้งการผลิต การบริการ การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อลดการเหลือทิ้งของอาหาร เช่น การนำวัตถุดิบที่ถูกคัดทิ้งมาแปรรูป หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือไม่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรในกระบวนการผลิต การนำระบบ AI มาใช้ เช่น ในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ โปรแกรมการผลิตแบบอัจฉริยะ การพัฒนาการเกษตรในเมืองเพื่อรองรับปริมาณประชากร และความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึง การพัฒนาอาหารเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับผู้สูงวัย อาหารที่ให้พลังงานทดแทน
เอ็นไอเอ ได้จัดทำ โครงการ “สเปซ-เอฟ” ซึ่งเป็นโปรแกรมการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอาหารในระดับนานาชาติ มีการนำนวัตกรรมมาช่วยยกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโต น่าสนใจ นอกจากนี้ ยังช่วยผลักดันสตาร์ทอัพสาขานวัตกรรมอาหาร ให้มีคุณภาพ ความหลากหลาย สอดรับกับความต้องการของภาคธุรกิจ ปีแรกของ SPACE-F มีสตาร์ทอัพ 142 ทีมทั่วโลกสมัครเข้ามา คัดเลือกเหลือ 23 ทีม ประกอบด้วยประเภท incubator หรือประเภทบ่มเพราะนวัตกรรม 12 ทีมและ accelerator หรือประเภทเร่งผลักดันความสำเร็จ 11 ทีม
สำหรับสเปซ-เอฟ มุ่งพัฒนาฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ 9 สาขา ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต วัตถุดิบและส่วนผสมอาหารใหม่ๆ วัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร
ทั้งนี้ ประกอบไปด้วยโปรแกรมการสนับสนุนจาก 3 ภาคหลักที่สำคัญ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา โดยในส่วนของ NIA นั้นจะให้การสนับสนุนตั้งแต่ การดึงหน่วยงานร่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เช่น สถาบันการเงิน องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมสนับสนุนการระดมทุน ไปจนถึงการช่วยอำนวยความสะดวกการออกสมาร์ทวีซ่า นอกจากนี้ ยังจะมีการสนับสนุนช่องทางตลาด การประชาสัมพันธ์ การออกงานอีเว้นท์ เช่น Startup Thailand , Innovation Thailand Expo ต่อเนื่องไปถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสตาร์ทอัพภายในโครงการร่วมกัน
ด้าน ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนได้นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการนำนวัตกรรมอาหาร มาเป็นแนวทางให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ความเข้าใจไปปรับใช้ และนอกเหนือจากศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนแห่งแรก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดให้สตาร์ทอัพในโครงการเข้ามาใช้เพื่อทดลองและวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยมืออาชีพแล้ว เรายังมีบุคลากรในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการบริหารจัดการ และการเงิน เป็นต้น เข้าแนะนำแนวทางพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทั้ง Incubator และAccelerator ทั้ง 23 ทีม จะสามารถต่อยอดทั้งด้านนวัตกรรมและประสบความสำเร็จด้านธุรกิจไปด้วยกัน