“บิ๊กป้อม”ย้ำห้ามเรือเวสเตอร์ดัม    เทียบท่าแหลมฉบัง

11 ก.พ. 2563 | 05:26 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2563 | 12:36 น.

“บิ๊กป้อม” ย้ำไม่ให้ เรือสำราญเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม เทียบท่าแหลมฉบัง ด้าน “อธิรัฐ” ลั่นหวั่นไวรัสโคโรนาระบาด ยอมรับตัดสินใจยากเหตุมนุษยธรรม 

 

เมื่อวันที่  11 ก.พ.เวลา 08.14 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเรือสำราญเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม ที่ถูกประเทศฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และญี่ปุ่นหลายประเทศปฏิเสธเข้าเทียบท่าปลายทาง เนื่องจากพบผู้โดยสารต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา  โดยจะขอเทียบท่าที่แหลมฉบัง จ.ระยอง  ว่า ก็ไม่ให้เข้าตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข บอกก่อนหน้านี้

 “บิ๊กป้อม”ย้ำห้ามเรือเวสเตอร์ดัม    เทียบท่าแหลมฉบัง

สอดคล้องกับนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ที่เผยว่า จากกรณีที่เรือ เอ็มเอส เวสเตอร์ดัม (Westerdam) พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือกว่า 2,200 คน จะเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากถูกทสงดารฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ปฏิเสธให้เทียบท่า เพราะความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนา 2019 นั้น 

“ในเรื่องนี้ยืนยันว่าทางตัวแทนเรือดังกล่าวได้มีการประสานงานมายัง กรมเจ้าท่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาจริง เพื่อขออนุญาติที่จะเข้ามาจอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง” 
 

ดังนั้นทาง กรมเจ้าท่า และ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการประสานงานและประชุมร่วมกัน รวมถึงได้มีการประสานงานประชุมทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าจะไม่ให้เรือดังกล่าวเข้ามาเทียบท่าเรือในเขตประเทศไทยอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันได้แจ้งไปยังผู้ประสานงานของเรือดังกล่าวว่าประเทศไทยไม่อนุญาตให้เรือดังกล่าวเข้ามาเทียบท่าแน่นอน

 “บิ๊กป้อม”ย้ำห้ามเรือเวสเตอร์ดัม    เทียบท่าแหลมฉบัง

นายอธิรัฐ กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสามารถดำเนินการได้อย่างเคร่งครัด เนื้องจากเมื่อมีกระแสข่าวผ่านสื่อโชเชียลมีเดียทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวว่าเรือจะเข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังก็เกิดจากบริษัทเรือ และ ตัวแทนที่มาประสานงานโพสต์ข้อความ ประชาสัมพันธ์ ออกไป ในขณะที่ทางกรมเจ้าท่าที่มีหน้าที่ในการออกใบอนุญาตไม่ได้ มีการอนุญาติและตอบปฎิเสธออกไป

 

"ถ้าเราอนุญาตให้เข้ามาก็จะสร้างความไม่สบายใจให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยหลายคน ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจลำบาก และละเอียดอ่อน ถ้าเรา มองในแง่ของมนุษยธรรม ใจเขาใจเรา  ถ้าเป็นเรือของไทย ไปเจอเหตุการณ์เช่นนี้บ้าง เราก็ รู้สึกลำบากใจ แต่ สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจ เพื่อ รักษาผลประโยชน์ประโยชน์ของประชาชนและความมั่นคงของประเทศจึงจำเป็นต้องตัดสินใจเช่นนี้”