เริ่มจากช่วงเช้าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วม บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บรรยากาศ เป็นไปอย่างคึกคัก มีการแข่งเคาะราคาจำนวน 20 รอบ ราคาอยู่ที่ 17,153 ล้านบาทต่อใบอนุญาต รวม 3 ใบอนุญาต(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นเงิน 51,459 ล้านบาท
จากนั้นในเวลา 12.50 น. กสทช.ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายเดิม คือบริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
การประมูลคลื่น 2600 MHz จบลงที่การเคาะรอบที่ 2 ราคาปิดที่ 1,956 ล้านบาทต่อใบอนุญาต รวม 19 ใบอนุญาต(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นเงิน 37,164 ล้านบาท
ต่อมา กสทช.ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นที่ 423 ล้านบาทต่อใบอนุญาต เคาะครั้งราคาละ 22 ล้านบาท ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมูล 4 รายคือ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด,บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ยื่นประมูลคลื่น 26 GHz
ผลปรากฎว่ารอบแรกมีผู้เสนอราคา 26 ชุดจากทั้งหมด 27 ชุด ราคาที่ผู้เข้าประมูลประมูลได้ 445 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถึ่ (lot) รวม 26 ชุดคลื่นความถี่ เป็นเงิน 11,570 ล้านบาท
ดังนั้นเมื่อรวมทั้ง 3 ใบอนุญาต กสทช.ได้เงินเข้ารัฐจำนวนทั้งสิ้น 100,193 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กสทช.ประเมินว่า หลังจากที่มีการประมูลเสร็จ จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 177,039 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.02% ของ GDP ในปี 2563
สำหรับในปี 2564 คาดว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขั้นต่ำประมาณ 332,619 ล้านบาท และในปี 2565 จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมาณ 476,062 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้นานฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประมูล 5Gในครั้งนี้ได้เงินเข้ารัฐ 7.4 หมื่นล้านบาท