อุตตม เคาะ ธกส.ออกกรีนบอนด์ 2 หมื่นล้านแห่งแรก ปล่อยกู้ช่วยเกษตรกรพัฒนาสิ่งแวดล้อม พร้อมไฟเขียวปรับโครงสร้าง ตั้งศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 77 จังหวัด อัดเงินกู้ 5 หมื่นล้าน พัฒนาท้องถิ่น
รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรม(บอร์ด)ธ.ก.ส.เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ดได้เห็นชอบให้ธ.ก.ส.สามารถออกพันธบัตรสีเขียว หรือกรีนบอนด์ วงเงิน 20,000 ล้านบาท เสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศ เพื่อนำเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านโครงการสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ ไทยยั่งยืนให้แก่ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร เอสเอ็มอีเกษตร เพื่อนำไปพัฒนาโครงการด้านการเกษตร ด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนโครงการเดิมของธ.ก.ส.เช่น ธนาคารต้นไม้ในก่อนหน้านี้ ที่มีการเปิดให้นำต้นไม้ที่ปลูกมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอกู้ได้ แต่ต่อไปก็สามารถนำเงินจากการออกพันธบัตรมาปล่อยกู้ปลูกป่าได้เช่นกัน
"ธ.ก.ส.ถือเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งแรก ที่ออกพันธบัตรสีเขียว เพื่อนำเงินไปใช้ปล่อยกู้โครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแล พัฒนาสิ่งแวดล้อมโดยตรงเท่านั้น จะนำไปใช้ในโครงการอื่นไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานกรีนบอน์ดสากล และมีการตรวจรับรองจากหน่วยงานระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ของธนาคารที่ก้าวไปสู่ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มทุนของธนาคารที่ได้รับการเห็นชอบจากครม.ไปแล้ว 20,000 ล้านบาท โดยยุทธศาสตร์ใหม่จะเพิ่มจาก 5 ยุทธศาสตร์ เป็น 6 ยุทธศาสตร์ พร้อมมีการปรับโครงสร้างภายใน ด้วยการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจชุมชนทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางผสานความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาคประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเพียง 0.01% ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 3 ปี และสินเชื่ออื่น ตามแผนธุรกิจที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุมชน เพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนา แก่กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกร สถาบันการเงินประชาชน วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน"
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายเป็นเพื่อการสร้างและพัฒนา เกษตรกรยุคใหม่ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร ปีละ 100,000 ราย และส่งเสริมการเติบโตของเอสเอ็มอีเกษตร ให้เป็นหัวขบวน ปีละ 10,000 ราย ตลอดจนปรับเปลี่ยนภารกิจที่ทำร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเดิมธนาคารเป็นเพียงผู้ให้บริการและสนับสนุนสินเชื่อ มาเป็นการทำแผนแม่บทชุมชนร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ชัดเจนและเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ส่วนแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของ ธ.ก.ส.ได้จัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท มี 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. พัฒนาการบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย
2.เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรและบุคลากรรองรับภารกิจ
3.บริหารจัดการรายได้รวมและต้นทุนรวมให้สมดุลและมีประสิทธิภาพ
4.สร้างและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นสมาร์ท ฟาร์เมอร์ และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร
5.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรรายย่อย ด้วยกลไกเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ และ
เพิ่มยุทธศาสตร์ที่ 6. พัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก