คมนาคมของบ 1.5 พันล.อุ้มสายการบิน-บขส.

13 มี.ค. 2563 | 12:36 น.

กบร.ไฟเขียว 6 มาตรการเยียวธุรกิจการบินจากผลกระทบไวรัสโคโรนา ชงครม.17 มี.ค.นี้ลดค่าแลนด์ดิ้ง-ปาร์กกิ้ง-บริการเดินอากาศ 50% ให้ถึงสิ้นปีนี้ ผ่อนผันการตัดสล็อตการบิน ขยายเวลาพักชำระหนี้ ลดค่าเช่าพื้นที่ให้ 6 เดือน ทั้งคมนาคมชงของบ 1.5 พันล้านบาทอุดหนุน ทย.อุ้มสายการบิน รวมถึงให้บขส. นำรถโดยสารรับ-ส่งผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ

           นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 2/2563 ในวันที่ 13 มีนาคม 2563  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส CIVID-19 โดยนอกจากมาตรการเยียวยาสายการบินแล้ว กระทรวงฯ จะต้องเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) ชดเชยรายได้ที่หายไปจากการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ประกอบไปด้วย กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เสนอขอรับเงินอุดหนุน 500 ล้านบาท และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ขอรับเงินอุดหนุน 700-1,000 ล้านบาท จากการนำรถโดยสารไปให้บริการรับส่งผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

คมนาคมของบ 1.5 พันล.อุ้มสายการบิน-บขส.
            ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส CIVID-19 ใน 6 มาตรการ ได้แก่
         มาตรการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน (มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563) ได้แก่ 1. ปรับลดค่าบริการท่าอากาศยานที่สายการบินถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน โดยปรับลดค่าบริการการขึ้น-ลงอากาศยาน (Landing charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลดลงอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรืออกประเทศกลุ่มเสี่ยง การปรับลดค่าใช้จ่ายที่ท่าอากาศยานอย่างอื่น ซึ่งมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการสายการบินสัญชาติไทยตามความเหมาะสม อาทิ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน เป็นต้น
          2.ปรับลดค่าบริการเดินอากาศ (Air navigation service charge) ที่ถูกเรียกเก็บจากผู้ให้บริการเดินอากาศ ลดลงในอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและลดลงในอัตราร้อยละ 20 สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง
         3.ปรับลดค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ (Regulatory fee) ที่เรียกเก็บจากสายการบินตามจำนวนผู้โดยสาร จากอัตราคนละ 15 บาท ลดลงเป็นคนละ 10 บาท สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้าหรือออกกประเทศกลุ่มเสี่ยง

        4. ขอขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นจากเดิมมีผลถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2563
              มาตรการอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ของสายการบิน ได้แก่ 1.ด้านการจัดสรรเวลาการบิน โดยจะผ่อนผันการตัดสิทธิในฤดูกาลถัดไปให้สายการบินที่ยกเลิกเที่ยวบินจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะไม่ถูกนำมาใช้คำนวณเงื่อนไขการทำการบินของเวลาการบินต่อเนื่องที่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของสายการบิน การประสานงานหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินในต่างประเทศที่สายการบินได้ยกเลิกเที่ยวบิน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อขอคงสิทธิในเวลาการบินที่ได้รับจัดสรรเดิม
        2. ด้านการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ โดย ทบทวนหลักเกณฑ์การขอจัดสรรเส้นทางบินใหม่ในเส้นทางภายในประเทศและปรับปรุงกระบวนการพิจารณาจัดสรรเส้นทางให้รวดเร็วขึ้น การเจรจาสิทธิการบินในเส้นทางระหว่างประเทศที่สายการบินของไทยมีศักยภาพในอนาคต อาทิ อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีใต้ เป็นต้น

คมนาคมของบ 1.5 พันล.อุ้มสายการบิน-บขส.
             มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางทางอากาศ ได้แก่ 1. ออกประกาศรองรับสิทธิของสายการบินในการปฏิเสธผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส
COVID-19  2.ประชาสัมพันธ์มาตรการด้านการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางทางอากาศ อาทิ กระบวนการคัดกรองผู้ป่วย วิธีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้องโดยสาร เป็นต้น
           มาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว  ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
           มาตรการทางการเงิน ได้แก่ 1. ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ (Credit terms) ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนที่สายการบินถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน ผู้ให้บริการการเดินอากาศ และผู้ประกอบการจำหน่ายและบริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง 2.จัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ สายการบิน โรงแรม ภาคบริการต่าง ๆ เป็นต้น  
            มาตรการอื่นๆ เช่น ลดค่าเช่าพื้นที่ลงร้อยละ 50 จากราคาค่าเช่าที่เพิ่งปรับขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของผู้โดยสารตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยที่อัตราการจัดเก็บค่าเช่าหลังหักส่วนลดต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กรมธนารักษ์กำหนด เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมีนาคม – สิงหาคม 2563)

         ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และกระทรวงคมนาคมจะเสนอมาตรการดังกล่าวเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 มีนาคม 2563
 

          อีกทั้งยังได้มอบให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ประสานงานกับกองทัพเรือ และกรมท่าอากาศยานเพื่อขอความร่วมมือให้สายการบินจอดอากาศยานในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

คมนาคมของบ 1.5 พันล.อุ้มสายการบิน-บขส.
                      นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบผลการผลการตรวจสอบมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัย ภายใต้โครงการ Universal security Audit Programme - Continuous Monitoring Approach (USAP - CMA) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระหว่างวันที่ 11 - 21 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งไม่พบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อการักษาความปลอดภัย และได้แจ้งข้อบกพร่องและข้อสังเกตต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการรวม 44 ประเด็น
              ข้อบกพร่องส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมควบคุมคุณภาพที่ยังดำเนินการไม่ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการขนส่งสินค้า (Cargo) และบริการครัวการบิน (Catering) การปฏิบัติการของท่าอากาศยาน การเพิ่มบุคลากรด้านการรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสมกับปริมาณสายการบิน ท่าอากาศยาน และกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับการกำกับดูแล
            ทั้งนี้ การตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อปี 2560 มีรายการคำถาม (PQ) ทั้งหมด 480 ข้อ พบข้อบกพร่อง 49 ข้อ ระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาบังคับใช้ในประเทศ (Effective Implementation) อยู่ที่ร้อยละ 55.78 การตรวจสอบครั้งนี้มี PQ ทั้งหมด 497 ข้อ พบข้อบกพร่อง 44 ข้อ
           ดังนั้น ระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาบังคับใช้ในประเทศในปี 2563 จึงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นกว่าปี 2560 สำหรับผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ICAO จะรายงานให้ประเทศไทยทราบภายใน 60 วัน (วันที่ 21 เมษายน 2563) หลังจากการดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้น (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563) หากประเทศไทยมีความเห็นต่างหรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติม สามารถแจ้ง ICAO ภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับรายงาน ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องจัดทำแผนแก้ไขข้อบกพร่องภายใน 60 วัน หลังจากที่ได้รับรายงานจาก ICAO