วิกฤติโควิด แอร์ไลน์  จอดนิ่ง50ลำ

18 มี.ค. 2563 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2563 | 09:00 น.

ไวรัสโควิด-19 ลาม 17 ประเทศปิดเมือง-สกัดการเดินทาง ทุบธุรกิจการบินของไทย 3 แสนล้านบาทวิกฤติ ส่อรูตบินหดอีก 40-45% เครื่องจอดนิ่ง 50 ลำ หลุมจอดไม่พอ ลดค่าจ้างแรงงาน หวังพึ่งรัฐเยียวยาด่วน ด้านคาปา ชี้สิ้นเดือนพ.ค.นี้การบินโลกเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ลาม 17 ประเทศ ปิดเมือง (Lockdown) รวมถึงการปิดพรมแดนของสหภาพยุโรป อีกทั้งหลายประเทศแม้จะไม่ได้ปิดประเทศ แต่ก็ออกมาตรการให้ทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศต้องกักตัวเอง 14 วัน เช่น สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ส่งผลให้ความต้องการในการเดินทางลดลงอย่างมากในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมายอดจองตั๋วล่วงหน้าน้อยกว่าการยกเลิกอย่างมาก

ปัจจุบันทุกสายการบินของไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดในธุรกิจการบินอยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท กำลังเผชิญกับกระแสเงินสดที่ลดลงอย่างหนัก ทุกสายการบินจึงออกมาตรการในการลดค่าใช้จ่ายที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งการยกเลิกเที่ยวบิน ลดเงินเดือนฝ่ายบริหาร และขอให้พนักงานลาโดยไม่รับเงินเดือน เป็นต้น นอกจากนี้ทุกสายการบินต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะมีการประกาศปิดเมืองไทยหรือไม่ เนื่องจากท่ามกลางสถานการณ์ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการธุรกิจท่ามกลางภาวะวิกฤติ ที่จากความไม่ชัดเจนทำให้วางแผนการทำงาน ควบคุมต้นทุนได้ยากลำบากมาก จากการต้องปรับการทำงานเป็นรายวัน

แหล่งข่าวระดับสูงจากสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นของหลายประเทศ รวมถึงของไทยที่กำหนดให้ผู้โดยสารจาก 4 กลุ่มประเทศเสี่ยงและ 2 เขตปกครองพิเศษต้องมีใบรับรองแพทย์และทำประกันวงเงินคุ้มครอง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ที่ผ่านมาสายการบินต้องทยอยลดและยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางบินไปแล้วกว่า 30% ล่าสุดก็เพิ่งยกเลิกเส้นทางบินเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ 

วิกฤติโควิด  แอร์ไลน์   จอดนิ่ง50ลำ

ทำให้สายการบินต้องนำเครื่องบินไปจอดชั่วคราวกว่า 10 ลำแล้วจากจำนวนฝูงบินที่มีอยู่ร่วม 30 ลำ แต่ขณะเดียวกันก็จะยังคงรักษาจุดบินภายในประเทศอยู่ แม้จะมีผู้โดยสารอยู่ราวครึ่งลำ การลดเงินเดือนของผู้บริหารลง 25-40% ส่วนพนักงานทั่วไปได้ขอความร่วมมือลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน ระหว่างรอมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ ตามมติคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.)ที่จะลดค่าธรรมเนียมต่างๆทั้งแลนดิ้ง พาร์กกิ้ง บริการเดินอากาศลง 20-50% 

ในส่วนของการบินไทย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 ยกเลิกเที่ยวบินไปแล้ว 1,580 เที่ยวบิน จาก 5,800 เที่ยวบิน ปิด 9 จุดบิน ใน 61 จุดบินและทยอยนำเครื่องบินจอด ไม่ใช้ทำการบิน โดยคาดว่าในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะมีเครื่องบินจอดจำนวน 20 ลำ จากเดิมที่จอดเครื่องไปแล้ว12 ลํา อาทิ แอร์บัส A380 จากจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการอยู่เดิม 70 ลำ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บริหารก็ได้ลดเงินเดือนลง 15-25% และเปิดให้พนักงานร่วมโครงการสมัครใจลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน 8 วัน ขณะเดียวกันการบินไทยยังอยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการคํ้าประกันเงินกู้อีกร่วม 3 หมื่นล้านบาท เพื่อประคองธุรกิจฝ่าไวรัสโควิด-19 

ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้สายการบินได้ทยอยยกเลิกเที่ยวบินเฉลี่ย 1 พันเที่ยวบินต่อวัน จากจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด 2.9-3 พันเที่ยวบินต่อวัน หรือลดลงราว 30% และคาดว่าจากนี้การลดลงของจำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มเป็น 1.5-1.6 พันเที่ยวบินต่อวัน หรือลดลงเพิ่มขึ้นอีกราว 40-45% 

การยกเลิกเที่ยวบินทำให้เครื่องบินต้องจอดพักจนเกิดปัญหาหลุมจอดของสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองมีไม่เพียงพอ เนื่องจากมีเครื่องบินจอดไม่ตํ่ากว่า 50 ลำ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับกองทัพเรือ เพื่อขอให้ลดค่าจอดอากาศยาน เพื่อให้สายการบินสามารถนำเครื่องไปจอดที่สนามบินอู่ตะเภาได้ ล่าสุดคาปา หรือ CAPA-Center for Aviation บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาอุตสาหกรรมการบิน ประเมินสายการบิน “ส่วนใหญ่” จะประสบกับภาวะล้มละลายภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เว้นเสียแต่ว่าทั้งอุตสาหกรรมและภาครัฐจะผนึกกำลังกันฉุดรั้งสายการบินเหล่านี้ออกจากหายนะที่กำลังรออยู่ เนื่องจากผลกระทบโรคระบาดที่ขยายวงกว้างขึ้นประกอบกับมาตรการที่รัฐบาลประเทศต่างๆนำมาใช้จำกัดการเดินทางของผู้คน 

ทำให้สายการบินหลายแห่งอาจจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายแล้วทางเทคนิค หรือบางรายแม้ยังดำเนินการอยู่ได้แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ หรือชำระหนี้ที่มีอยู่ได้ตามกำหนด สภาพคล่องเงินสดเหือดหายอย่างรวดเร็วขณะที่จำเป็นต้องลดจำนวนเที่ยวบินและนำเครื่องบินลงจอดทิ้งไว้เฉยๆ ส่วนเครื่องบินที่ยังให้บริการอยู่ก็มีผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งลำ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,558 วันที่ 19 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2563