นายเศกไชย ชูหมื่นไวย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Brand Strategy and Integration เคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) พบว่าผู้บริโภคมีความต้องการสั่งอาหารไปรับประทานที่บ้านเพิ่มขึ้น หากเทียบกับช่วงปกติ ส่งผลให้ตัวเลขผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดีลิเวอรี (Delivery) เพิ่มสูงขึ้น 50% และบริการไดรฟ์ธรูเพิ่มขึ้น 20%
จากตัวเลขการใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เคเอฟซี ต้องปรับรูปแบบการให้บริการ โดยเน้นบริการที่ให้ความปลอดภัย และสะดวก เป็นสำคัญ พร้อมกับปรับปรุงบริการให้ทันสมัย เข้ากับพฤติกรรมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวลูกค้าอยู่เสมอ เช่น การให้บริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส หรือ Contactless Delivery ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้น เพื่อตอบรับกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้บริโภคจะกังวลเรื่องของความสะอาด การแพร่เชื้อ ฯลฯ เคเอฟซีจึงออกแบบการจัดส่งใหม่ เพื่อให้พนักงานส่งไม่ต้องสัมผัสสินค้าแต่อย่างใด ทำให้มั่นใจได้ว่า อาหารที่ส่งจะสะอาด ปลอดภัย ในเวลาอันรวดเร็ว
โดยปัจจุบันเคเอฟซีเปิดให้บริการทั้งสิ้น 810 สาขา ใน 73 จังหวัด โดยมีบริการดีลิเวอรีรวมกว่า 600 สาขา และไดรฟ์ธรูอีก 94 สาขา ขณะที่รูปแบบการสั่งอาหารดีลิเวอรี สามารถกระทำได้ 3 ช่องทางคือ kfc.co.th, แอพพลิเคชัน : KFC Thailand และโทร. 1150 ขณะที่การให้บริการแบบ Contactless Delivery สามารถสั่งสินค้าได้ในช่องทาง Website และ Application: KFC Thailand เท่านั้น
นายเศกไชย กล่าวอีกว่า เคเอฟซีให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานทุกคน ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่เกิดการเริ่มระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ เคเอฟซีทุกสาขาได้เพิ่มการดูแลและความถี่ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคอย่างเข้มข้นในพื้นที่ร้าน รวมถึงความสะอาดพื้นที่ที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น เคาน์เตอร์ชำระเงิน เคาน์เตอร์สำหรับจัดเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เคาน์เตอร์สำหรับจัดวางภาชนะอุปกรณ์สำหรับบริการลูกค้า พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับพนักงานเรื่องไวรัสโควิด-19 มีการตรวจอุณหภูมิก่อนการเข้าทำงานทุกวัน หากพนักงานร้านและพนักงานส่งอาหารมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37 หรือมีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ จะให้หยุดปฏิบัติงาน และพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ดี หลังมีมาตรการให้ปิดพื้นที่รับประทานอาหารในร้านอาหารในหลายจังหวัดรวมถึงในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทำให้บริษัทพิจารณาปิดบางสาขาที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและมีการเข้าถึงยาก ส่วนพนักงานจะถูกโยกไปทำงานในสาขาอื่นหรือช่วยสนับสนุนในช่องทางดีลิเวอรีที่มีการสั่งเพิ่มมากขึ้นแทน
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26-28 มีนาคม 2563