นอกจากแคมเปญ “หยุดเชื้อ อยู่บ้าน เพื่อชาติ” ที่ประเทศไทยและ อีกหลายประเทศนำมาใช้ในการรับมือเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกมาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง คือ “เว้นระยะห่างทางสังคม” หรือ “Social Distancing”
รูปแบบที่ไทยนำมาใช้ ในการทิ้งระยะห่างทางสังคม เช่น โรงเรียน ขนส่งสาธารณะ บริษัทขนาดใหญ่ งานอีเวนต์ หรือพื้นที่ใดๆ ก็ตามที่มีผู้คนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เพราะจัดเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการระบาดของโรคติดต่อได้
ขณะที่ส่วนราชการได้ออกข้อกำหนดเรื่องวิธีการทำงาน นอกสถานที่ราชการปกติ เช่น การทำงานที่บ้าน การใช้วิธีเช่าอาคารแห่งหนึ่งเพื่อจัดที่นั่งระยะห่างให้เจ้าหน้าที่ทำงาน
ขณะเดียวกันรัฐบาลโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สนับสนุนค่าบริการอินเตอร์เน็ตรองรับ “work-learn” from Home โดยจะเพิ่มอินเตอร์เน็ตฟรีแก่ประชาชนที่ลงทะเบียนคนละ 10 GB เป็นเวลา 30 วัน พร้อมเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ (เน็ตบ้าน) 100 Mbps ที่จะเริ่มวันที่ 10 เมษายนนี้ ส่วนภาคเอกชนส่วนใหญ่ขานรับมาตรการนี้อย่างเต็มที่
แต่ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และตนเอง ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดรัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563
ต่อมาพบว่ามีการแพร่เชื้อในหลายจังหวัดอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การออกมาตรการกำหนดช่วงเวลาห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานไปแล้วในหลายจังหวัด รวมทั้งปิดเมืองในหลายจังหวัด เช่นกัน
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ทั่วราชอาณาจักร ในระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. โดยเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 3 เมษายนนี้
นอกจากประเทศไทยที่ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ยังพบว่าหลายประเทศในยุโรปได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือ ปิดเมือง ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม และเยอรมนี เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
บางประเทศมีการให้คำแนะนำให้อยู่บ้าน ห้ามออกนอกบ้าน ไม่สังสรรค์ยามคํ่าคืน ไม่เดินเป็นกลุ่มก้อน ในประเทศฝรั่งเศสนั้น หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีการดำเนินคดีและกำหนดบทลงโทษ
ขณะที่ในประเทศอังกฤษ มีคำแนะนำและสั่งห้ามรวมกลุ่มกันมากกว่า 2 คนขึ้นไปโดยอนุญาตให้ออกจากบ้านเฉพาะการไปไปร้านอาหาร พบแพทย์ สำหรับร้านค้า และสนามเด็กเล่นล้วนถูกสั่งปิดทั้งหมด หากฝ่าฝืนจะมีการใช้กฎหมายบังคับ
ส่วนที่สหรัฐอเมริกา มีมาตรการเน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม ใครไม่ทำตามจะต้องถูกลงโทษแยกเดี่ยว ในประเทศออสเตรเลีย รัฐบาลสั่งห้าม ชุมนุมเกิน 500 คน และสั่งปิดหาดต่างๆ
สำหรับประเทศเยอรมนีนั้น ออกกฎห้ามพบกันในสถานที่สาธารณะเกิน 2 คน และประเทศสวีเดน ซึ่งเพิ่งประกาศห้ามคนมาชุมนุม หากมีคนฝ่าฝืน จะดำเนินคดี โดยมีโทษจำคุก 6 เดือน และขอให้ประชาชนไม่ไปไหน หยุดอยู่บ้านในช่วงวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์
สำหรับประเทศที่บังคับใช้กฎหมายแล้ว เช่น ตูนิเซีย ตำรวจใช้แก๊สนํ้าตายิงวัยรุ่นที่มารวมกลุ่มกันในการแข่งขันแกะชน ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมในแอฟริกาเหนือ ส่วนที่แอฟริกา ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่ ประชาชนที่มายืนต่อแถวกัน อย่างแออัด เพื่อไปเลือกซื้อ สินค้า และที่ประเทศเยอรมนีตำรวจเข้าสลายการชุมนุมทันที เมื่อมีผู้มาชุมนุมประท้วงกันกว่า 200 คน
ในมอสโก ก็มีการใช้เทคโนโลยีติดตามคนที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยใช้ระบบจดจำใบหน้าของประชาชนเพื่อติดตามว่ามีการออกไปนอกพื้นที่หรือไม่
ส่วนนิวซีแลนด์สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนสามารถรายงานสดเมื่อพบคนกระทำผิด ส่งผลให้เว็บไซต์ดังกล่าวระบบขัดข้องไปบางช่วง เนื่องจากมีการรายงานการกระทำผิดมากกว่า 4,000 คดี
สำหรับประเทศสิงคโปร์ มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งการซื้อสินค้า การรับประทานอาหาร และปิดโรงเรียน และแยกกักตัวผู้ป่วยอย่างชัดเจน ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยน้อย
จะเห็นได้ว่า การรักษาระยะห่างทางสังคม จึงไม่ใช่การตัดขาดการติดต่อสื่อสารทุกช่องทาง
การสื่อสารด้วยช่องทางออนไลน์ การพูดคุยผ่านแอพพลิเคชัน และโทรศัพท์เห็นหน้าค่าตากันทางวิดีโอ ยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้คนทั้งโลกไม่รู้สึกเหมือนห่างไกลกัน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5-8 เมษายน 2563