นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชียงใหม่พัฒนาเมือง จำกัด เสนอให้ปลดล็อกธุรกิจ โดยใช้จังหวัดเชียงใหม่เป็นโมเดลต้นแบบสู้โควิด-19 เหมาะสมที่สุด เพราะว่าเป็นเมืองที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่และมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคส่งออก หากการทดลองโมเดลในการคลายล็อกของเชียงใหม่สำเสร็จ สามารถเอาไปขยายผลทั่วประเทศได้
สิ่งที่เราขันอาสาว่าอาจจะเป็นความสุ่มเสี่ยง แต่เนื่องจากเชียงใหม่มีพร้อมหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล สาธารณสุข การแพทย์และความตื่นตัวของเชียงใหม่ ทำให้เราหลุด 10 อันดับแรกของประเทศไทยที่สามารถควบคุมโรคระบาด ทั้งที่ช่วงแรกการระบาดมีติดเชื้อและเสียชีวิต เมื่อควบคุมเข้มข้นหลังจากนั้นไม่มีอีกเลย และที่เสียชีวิตก็มาจากที่อื่น สูงอายุ และมีโรคประจำตัว สะท้อนถึงบริการทางการแพทย์ของเขียงใหม่มีมาตรฐานค่อนข้างสูงมาก
การปลดล็อกสามารถทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบมีความรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อกครั้งแรก คือ ธุรกิจที่มีความสุ่มเสี่ยงน้อย ที่ผ่านมาเชียงใหม่ล็อกดาวน์จังหวัดตั้งแต่ 23 มีนาคม จนถึงวันนี้ผ่านไปเดือนกว่าแล้ว เท่ากับว่าคนในเชียงใหม่ ทั้งคนเชียงใหม่ 1.8 ล้านคน กับที่เข้ามาอยู่อีก 4 แสนคน รวมเป็น 2.2 ล้านคน ปลอดภัยสูงมาก ควรจะทำมาค้าขายกันได้แล้ว
วิธีการคือจะมีการขยับในการปลดล็อกตามลำดับ ที่จะปลดล็อกเปิดก่อนคือ สิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันคือ ร้านอาหาร ในส่วนของร้านอาหารที่นั่งทานได้ต้องมีมาตรการที่เข้มข้น ร้านขายหนังสือ ร้านทำผม ร้านที่มีคนมาชุมนุมไม่มาก ที่เป็นกลางแจ้งควรจะเปิดได้ ในส่วนอื่น ๆ ค่อย ๆ เปิดในลำดับต่อไป ในพื้นที่ปิดล้อม เช่น ห้างสรรพสินค้า อันนั้นก็เป็นสเต็ปถัดไป ช่วงแรกต้องเป็นพื้นที่กลางแจ้ง สถานที่โล่งที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดถึง ปลดล็อกได้โดยทุกคนก็ต้องใส่หน้ากาก
ร้านอาหารที่มีโต๊ะ เก้าอี้นั่ง รับประทานต้องมีมาตรการในการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม มาตรการในการทำอาหารของกุ๊ก พนักงาน ต่างๆต้องมีความปลอดภัยใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากให้ดี ส่วนอาหารที่มาเสิร์ฟต้องมีช้อนกลาง ขั้นที่ 2 ร้านหนังสือ ร้านเสื้อผ้า สนามออกกำลังกายกลางแจ้งน่าจะเปิดได้ สเต็ปที่ 3 ถ้าไม่มีการระบาดติดเชื้อมาก ก็ควรจะเริ่มเปิดห้างสรรพสินค้าที่มีระบบแอร์รวม แล้วสเต็ปต่อมาก็เป็นโรงภาพยนตร์ ศูนย์แสดงสินค้า สถานบันเทิงเป็นสเต็ปท้าย ๆ เป็นสีแดง มีความเสี่ยงสูงที่มันจะกระจายไปมาก
การปลดล็อกรอบแรก ตลาดนัดควรจะเปิดด้วย เพราะว่าเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำเขาเดือดร้อนมาก เปิดแล้วต้องมีมาตรการที่ได้มาตรฐานค่อนข้างสูง เจ้าของสถานที่ที่จัดตลาดนัดต้องมีการคัดกรองคนที่เข้ามา ถ้ามีคนเข้ามาจะไม่หนาแน่นเหมือนที่ผ่านมา จะต้องมีการรอคิว เว้นระยะห่าง จำหน่ายสินค้า ที่ห่างกันหรือล็อคเว้นล็อค ถ้าเป็นแบบนี้ก็ค้าขายกันได้ คนก็มีเงินไปหมุนเวียนเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงชีวิต ถ้าเปิดได้ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ฟังเสียงสะท้อนจากพ่อค้าแม่ค้าว่าเมื่อไหร่จะเปิด บางคนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว ตอนนี้หนี้สินพ้นตัว เพราะจากที่ผ่านมา พ่อค้าแม่ค้ามีรายได้จากการค้าขายต่อสัปดาห์ละ 2 วัน ได้ประมาณ 10,000 กว่าบาท มาตอนนี้ไม่มีรายได้เลย เดือนเศษ ๆ ที่ผ่านมาเราบอบซ้ำมามากเกิน บางคนไม่ได้ทานข้าวมาๆรอรับบริจาคเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ไม่ใช่ทางออกที่สมบูรณ์ในช่วงที่รอวัคซีน ถ้าวัคซีนมาก็จบทุกอย่าง ถ้าวัคซีนเอาอยู่ได้ก็สามารถเปิดได้อย่างเหมือนเดิม แต่ ณ ตอนนี้จะเปิดเหมือนเดิมไม่ได้อย่างเด็ดขาด ต้องมีมาตรการมีความระมัดระวังอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าเราสามารถผ่านพ้นไปด้วยดี
นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ ตลาดนัดมีโชค เป็นโมเดลได้ เพราะว่าเป็นตลาดนัดที่มีระบบอยู่แล้ว ตลาดนัดมีโชค เปิดวันจันทร์-อังคาร ช่วงตอนเย็น ถ้าเปิดได้เราจะควบคุมให้เปิดครึ่งเดียวพอ ปัจจุบันเรามี 600 ราย ช่วงแรกจะเปิดประมาณ 300 รายก่อน โดยจัดทำพื้นที่ขายล็อคเว้นล็อค แล้วเอาความจำเป็น ร้านอาหารจะต้องให้ห่างกัน และทางเข้า-ออก มีการคัดกรอง มีการวัดอุณหภูมิ มีระบบป้องกันของพ่อค้า-แม่ค้าแบบเข้มข้น ต้องมีเฟชซีลดิ์ มีหน้ากาก มีการใส่ถุงมือ คนที่ไม่ใส่หน้ากากห้ามเข้าเด็ดขาด
ดังนั้น หากเกิดมีคนติดเชื้อเข้ามาในตลาด เขาก็ไม่สามารถแพร่เชื้อให้พ่อค้า-แม่ค้าได้ เพราะเวลาเขาพูดต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา สามารถป้องกันการฟุ้งกระจายน้ำลายไปสู่อาหาร ก็เชื่อว่าแบบนี้เอาอยู่แน่นอน เราพร้อมที่จะเปิดให้เป็นโมเดลต้นแบบได้เลย