สจล. แนะมาตรการ หนุนสตรีทฟู้ดหลังปลดล็อคดาวน์

01 พ.ค. 2563 | 09:48 น.

   นักวิชาการ สจล. แนะ 5 มาตรการ หนุนสตรีทฟู้ดหลังปลดล็อคดาวน์ เน้นย้ำเรื่องสุขอนามัย และสังคมไร้เงินสดลดการสัมผัส

     ผศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล หัวหน้าศูนย์  Food Innopolis @KMITL กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 - 31 พฤษภาคม 2563 พร้อมประกาศผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติขึ้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านการสาธารณสุขเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ Food Innopolis @KMITL ได้ตระหนักถึงแนวทางการประกอบกิจการร้านอาหารริมทาง (Street Food) ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันของประชาชน ในช่วงขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งมีความจำเป็นต้องจัดการมาตรฐานด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด จึงได้แนะนำ 5 มาตรการควบคุมสุขลักษณะร้านอาหารริมทาง ได้แก่

1. รักษาระยะห่าง ยังสำคัญ
        ร้านค้าต้องจัดระบบการเข้าคิวสั่ง - รอรับอาหาร โดยใช้หลักการรักษาระยะห่างทั้งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และระหว่างผู้ซื้อด้วยกัน อาทิ การมาร์คจุดเข้าคิว การจัดที่นั่งรอโดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคระหว่างบุคคล

2.ผู้ขายต้องหมั่นดูแลสุขลักษณะส่วนตัว
        โดยการหมั่นล้างมืออย่างถูกวิธี สวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่พูดคุยเล่นขณะปรุงอาหาร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมถึงหมั่นเปลี่ยนหน้ากากอนามัย และผ้ากันเปื้อนเพื่อป้องกันการหมักหมมของสิ่งสกปรก

3.รักษาความสะอาดของพื้นผิวสัมผัส 
        พื้นผิวสัมผัสทุกจุดที่ต้องมีการวางวัตถุดิบในการปรุงอาหาร อาทิ ชั้นวางวัตถุดิบ พื้นผิววัสดุสำหรับเตรียมประกอบอาหาร หม้อ กระทะ รวมถึงภาชนะใส่อาหาร จะต้องผ่านการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาด และเช็ดให้แห้ง รวมถึงต้องจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หม้อ กระทะ ให้อยู่สูงจากพื้น 60 ซม. เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสิ่งสกปรก

4. คนซื้อต้องใส่แมสก์ และล้างมือเสมอ
        ร้านค้าต้องให้บริการเจลแอลกอฮอล์แก่ผู้ซื้อ รวมถึงขอความร่วมมือให้ผู้ซื้อสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

5. สังคมไร้เงินสด ต้องมาให้ทันเวลา
       ร้านค้าควรปรับรูปแบบการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการสัมผัสระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยอาจมีวิธีการชำระเงินที่หลากหลายให้ผู้ซื้อได้เลือกชำระเงินตามความสะดวก

      อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมสุขลักษณะร้านอาหารริมทางดังกล่าวควรนำมาปรับใช้ในระยะยาว แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลง เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพร้านอาหารริมทางให้ดำเนินกิจการภายใต้มาตรฐานด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน สอดรับกับ New Normal ของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าเพื่อการบริโภคที่มีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีอันชาญฉลาดมาปรับใช้ในรถเข็นขายอาหารริมทาง เป็นทางเลือกที่สำคัญในการควบคุมสุขลักษณะ ตลอดจนควบคุมกระบวนการกำจัดของเสียที่ได้จากกระบวนการปรุงอาหารในร้าน อีกทั้งเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และทัศนียภาพบริเวณร้านอาหารอีกด้วย 

     “ระยะเวลาผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ถือเป็นช่วงเวลาพิสูจน์ความสามารถของผู้ประกอบการร้านอาหารริมทางและสถานประกอบการขนาดเล็กที่ได้รับอนุญาตให้เปิดกิจการก่อน ภายใต้การบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานทางสาธารณสุข หากผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจอื่นๆ ให้เรียนรู้แนวทางการจัดการที่ดี และมีโอกาสได้รับการผ่อนปรนในเร็ววันเป็นการฟื้นฟูวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมให้ดีขึ้นตามลำดับ” ผศ.ดร.นภัสรพี กล่าวทิ้งท้าย