หนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และล็อกดาวน์ คือ “อี-คอมเมิร์ซ” โดยมาตรการปิดห้าง เพื่อป้องกันการระบาดไวรัสโควิด ทำให้ร้านค้าและผู้บริโภคหันมาสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในเวลาเดียวกันก็สร้างฐานกลุ่มนักช็อปหน้าใหม่หรือเข้ามาซื้อเป็นครั้งแรกเข้าสู่อีโคซิสเต็ม ซึ่งประสบการณ์จากการช็อปออนไลน์ของผู้บริโภครายใหม่ถือเป็นการวางรากฐานการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซในไทย
ออร์เดอร์พุ่งกว่า 80%
นายแจ็ค จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า โควิด-19 มีส่วนช่วยเร่งให้ผู้บริโภคไทยเข้าถึงบริการอี-คอมเมิร์ซรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากผู้ค้ารายใหม่บนแพลตฟอร์มลาซาด้ากว่า 1.3 แสนราย ในช่วงเวลาเพียง 3 เดือนที่ผ่านมา ยังเห็นนักช็อปหน้าใหม่จำนวนมากที่เข้ามาซื้อสินค้า และจำนวนคำสั่งซื้อที่พุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม พบว่ามีตัวเลขนักช็อปรายใหม่บนแพลตฟอร์มลาซาด้าพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50% และยอดคำสั่งซื้อ (Orders) สูงขึ้นกว่า 80% โดยกลุ่มสินค้าที่นักช็อปหน้าใหม่เลือกซื้อ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในครัว เช่น หม้อทอดไร้น้ำมัน ฯลฯ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ และแท็บเลต ฯลฯ สินค้าสำหรับเด็ก ของเล่นและความบันเทิงต่างๆ
ด้านนางสาวสุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แพลตฟอร์มช้อปปี้มียอดการเข้าชม (Traffic) และการทำรายการ (Transaction) จำนวนมากในช่วงนี้ เนื่องจากผู้บริโภคหันมาช็อปปิ้งออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าของใช้จำเป็นไปจนถึงเครื่องใช้ภายในบ้าน
“แนวโน้มโดยรวมของตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยมีการเติบโตขึ้นอยู่แล้ว โดยยอดซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มช้อปปี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ Covid-19 อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุน แต่เราไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าส่งผลกระทบถึงโดยตรง”
ช็อปพักเที่ยง-ก่อนนอน
ทั้งนี้พบว่านักช็อปไทยใช้เวลาช็อปปิ้งออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยผู้ซื้อใช้เวลาบนช้อปปี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ต่อสัปดาห์ ในการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยจะจับจ่ายมากที่สุดในวันอังคาร สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาคนไทยนิยมช็อปปิ้งกันในช่วงต้นสัปดาห์ และช่วงเวลา 12.00 น. และ 21.00 น. ซึ่งเป็นเวลาช่วงพักกลางวัน และช่วงก่อนนอน เป็นช่วงที่นิยมมากที่สุด ขณะที่ผู้ใช้ช้อปปี้มีการเลือกชำระเงิน ผ่านทาง AirPay Wallet เพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา
โดยสินค้าที่มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ทั้งในหมวดหมู่ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องใช้ในบ้าน สินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์ โดยสินค้ายอดนิยมที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นประกอบด้วย เจลล้างมือ ไม้ถูพื้น หูฟัง ผ้าอ้อมสำหรับเด็ก และนมพร้อมดื่ม
ไอทีออนไลน์โต 4 เท่า
นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจ.ไอ.บี คอมพิวเตอร์ จำกัด เชนสโตร์ไอทีภายใต้แบรนด์ “JIB” กล่าวว่า 1 เดือนที่ผ่านมาภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการปิดห้างสรรพสินค้า นั้นบริษัทได้บริษัทมีการปิดหน้าร้านไปจำนวน 121 สาขา อย่างไรก็ตามยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้น 4 เท่า โดย New Normal ของเชนสโตร์ไอทีหลังโควิดนั้นมองว่าออนไลน์จะเป็นช่องทางที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลข 1 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อออนไลน์จากเจไอบี สั่งซื้อเข้ามาเป็นครั้งแรก 11,000 รายจากปกติมีลูกค้าใหม่เข้ามาซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ครั้งแรกเดือนละ 3,000 ราย
ด้านนายพลศักดิ์ อุตมะมงคล ผู้จัดการอาวุโส บริษัท จีเอฟเค ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสค่อนข้างรุนแรงโดยไตรมาสแรกติดลบ 15% และถ้านับเฉพาะเดือนมีนาคมติดลบถึง 30% โดยกระจายผลกระทบไปยังแต่ละกลุ่มสินค้ามากน้อยต่างกันไป ขณะที่ยอดขายในช่องออนไลน์พบว่า กลับมาเติบโตสวนทางกับช่องทางออฟไลน์ มีการเติบโตหวือหวาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% หลังหน้าร้านปิดไป ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด พบว่าในช่องทางรีเทลหลักทั้ง 6 รายในประเทศไทย หรือคิดเป็น 60-70% ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทย ครอบคลุมทั้ง ทีวี เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หลังมีมาตรการล็อกดาวน์ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 75%
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,574 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563