7 ขั้นตอน “คลินิกเสริมความงาม” รับ คลายล็อกดาวน์ กิจการ

16 พ.ค. 2563 | 04:01 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2563 | 12:03 น.

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะ คลินิกเสริมความงาม ยึด แนวปฏิบัติ 7 ขั้น ป้องกันการแพร่ระบาด โควิด-19 พร้อมรับการคลายล็อกดาวน์กิจการเฟส 2

16 พฤษภาคม 2563 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ประกาศให้มีการคลายล็อกดาวน์ 3 ประเภทกิจการ/กิจกรรม โดยคลินิกที่ให้บริการเสริมความงามเฉพาะเรือนร่าง ผิวพรรณ เว้นการทำความงามที่เกี่ยวข้องบนใบหน้าถูกจัดอยู่ในกิจการ/กิจกรรมประเภทที่ 2 ด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ ซึ่งนับเป็นข่าวดีกับผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลที่ตั้งตารอให้คลินิกของตนกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

แต่ถึงแม้จะเป็นมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 แล้วก็ตามหากคลินิกปล่อยปละละเลยให้การ์ดตกก็อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคระลอกใหม่ได้ จึงขอเน้นย้ำให้คลินิกฯ ทุกแห่งได้มีการเตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวังการแพร่กระจายและคัดกรองโรคโควิด-19 เมื่อเปิดบริการโดยให้ยึดหลักปฏิบัติตาม “แนวทางการปฏิบัติของคลินิกในการเฝ้าระวังการแพร่กระจายและคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19” ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (https://mrd-hss.moph.go.th) อย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตัวผู้รับบริการ บุคลากรประจำคลินิก และเป็นการป้องกันมิให้เกิดการแพร่กระจายของโรคฯอีกด้วย ซึ่งหากคลินิกใดไม่มีการปฏิบัติตามแนวทางในการเฝ้าระวังการแพร่กระจายและคัดกรองโรคโควิด-19 ก็จะมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำและปรับ อีกทั้ง อาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการเป็นการชั่วคราวอีกด้วย

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการในการเฝ้าระวังการแพร่กระจายและคัดกรองโรคโควิด-19 ในคลินิกที่ให้บริการเสริมความงามนั้นได้มีการกำหนดกิจกรรมให้บุคลากรประจำสถานพยาบาลและผู้รับบริการได้ปฏิบัติอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการกำหนดแนวทางการให้บริการ/การคัดกรองของคลินิกดังกล่าว ออกเป็น 7 ขั้นตอน ได้แก่

1)การจัดให้มีจุดคัดกรองประจำสถานพยาบาล ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ วัดอุณหภูมิ

2)การจัดจุดรับรองรอตรวจ มีที่นั่งรอระยะห่าง 1.5-2 เมตร มีการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

3)การจัดทำเวชระเบียน คัดกรองบันทึกซักถามประวัติเสี่ยงของผู้ที่มารับบริการ มีการวัดอุณหภูมิทุกครั้ง

4)การตรวจหรือปรึกษาโดยแพทย์/พยาบาล รับบริการได้ 1 คนต่อ แพทย์หรือพยาบาล 1 ท่าน โดยมีการรักษา Social Distance เสมอ

5)บริการหัตถการต่างๆ มีการแยกห้องผู้รับบริการ ห้องละ 1 คน ผู้ให้บริการมีการสวมหน้ากากอนามัย หรือ Face Shield และสวมถุงมือทุกครั้ง

6)การชำระเงิน/จ่ายยา/นัดตรวจ จัดให้มีการชำระค่าบริการแบบออนไลน์ จัดทำเอกสารแนะนำบริการ/ใบเสร็จ/ใบนัดตรวจ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากชำระด้วยเงินสดหรือต้องส่งมอบเอกสารต่างๆ พนักงานต้องใส่ถุงมือ

7)การอำนวยความสะดวกอื่นๆในสถานพยาบาล ต้องมีการแยกขยะติดเชื้ออย่างถูกต้อง จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์บริการตามจุดต่างๆ ซึ่งการที่คลินิกปฏิบัติตามแนวทางอย่างเคร่งครัด

นอกจากจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดการระบาดของโรคซ้ำแล้ว ยังเป็นการช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ได้รับการฟื้นฟูอีกทางหนึ่ง