ลดดอกเบี้ยกู้กดดัน NIM ท่ามกลางหลายมาตรการช่วยเหลือลูกค้า

23 พ.ค. 2563 | 02:44 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2563 | 10:11 น.

ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR/MRR/MOR ในกรอบประมาณ 0.125%-0.40%กดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 2.15-2.35% ในไตรมาส 2

ผลการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยของกนง. เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563   ถูกส่งผ่านมายังอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อีกครั้ง ซึ่งในรอบนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ก็เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อัตราดอกเบี้ย MRR และอัตราดอกเบี้ย MOR ลงอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR/MRR/MOR ของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้อยู่ในกรอบประมาณ 0.125%-0.40%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยจ่ายของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ได้ทันที ทั้งผู้ขอสินเชื่อใหม่และลูกหนี้เดิมที่ยังสามารถชำระคืนหนี้ ซึ่งในปัจจุบัน ลูกค้ากว่า 50% ของพอร์ตสินเชื่อโดยรวมเป็นลูกค้าที่มีสัญญาสินเชื่อเป็นดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ย MLR/MRR/MOR ขณะที่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการที่ต้องการเบิกใช้สินเชื่อระยะสั้นเพิ่มขึ้นในระยะนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงด้วยเช่นกัน  รวมถึงเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และลูกค้าบุคคลรายย่อยที่สถาบันการเงินทุกแห่งกำลังดำเนินการอยู่

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีอาจเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 2/2563  ขณะที่สินเชื่อปล่อยใหม่แทบทุกประเภทเติบโตในกรอบจำกัด (ยกเว้น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่) ส่วนพอร์ตสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อรายย่อยบางส่วนอยู่ในช่วงการพักชำระดอกเบี้ยตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางรายได้ดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย  ซึ่งอาจทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 2.15-2.35% ในไตรมาส 2/2563 เทียบกับ NIM ที่ 3.09% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา (แต่หาก ธ.พ. มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาลงเป็นการทั่วไป 0.125% ก็อาจช่วยประคอง NIM ได้ประมาณ 6 bps. หรือ  0.06%)
ขณะเดียวกัน ประเด็นว่าสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอลยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในไตรมาสสอง  แม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ จะขยับขึ้นมาที่ 3.05% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 1/2563 แต่การเร่งตัวขึ้นของสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต หรือ หนี้ Stage 2 มาที่ 7.70% (จาก 2.79% ณ สิ้นปี 2562)  นอกจากนี้ หนี้ปรับโครงสร้าง ซึ่งธนาคารให้ความช่วยเหลือรวม 6.12 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 15 พ.ค. 2563) นั้นอาจคิดเป็นประมาณ 30% ของสินเชื่อรวม ซึ่งคงต้องเฝ้าระวังและยอมรับว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้ในระยะต่อไป ยังคงผันแปรตามเงื่อนไขการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละธุรกิจ อาจจะมีนัยต่อทิศทางคุณภาพหนี้ รวมถึงภาระในการตั้งสำรองฯ ของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ไตรมาสที่ 2/2563 เป็นช่วงเวลาที่สภาวะเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของธนาคารพาณิชย์ต้องรับมือกับสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมๆ กับภารกิจสำคัญช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งเติมสภาพคล่องเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจ และปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน ซึ่งปัญหาคุณภาพหนี้ก็ต้องได้รับการดูแลไปในเวลาเดียวกัน  ทั้งนี้แม้ปัญหาเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆ ที่ช่วยเหลือลูกค้า อาจทำให้การประคองผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 แต่สถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนและเงินสำรองในระดับสูง ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะนี้ไปได้

ลดดอกเบี้ยกู้กดดัน NIMhttps://medias.thansettakij.com/media/pdf/2020/1590201948.pdf