นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ได้แถลงถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19 ) ในประเทศไทยวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เวลา 11:30 น. ต่อข้อถามที่ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่มากแล้ว เหตุใดจึงยังไม่ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน เพราะมี พ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่แล้ว นั้น ว่าก่อนที่จะเกิดโรคโควิด-19ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่ออย่างเดียวเพื่อควบคุมโรค แต่เกิดโควิด-19 ต้องมีการทำงานข้ามกระทรวง ซึ่งการสั่งการทำได้แต่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานข้ามกระทรวงที่แต่ละกระทรวงมีภาระหน้าที่ที่แตกต่างกัน
ซึ่งแตกต่างจากตอนมี พรก.ฉุกเฉิน ที่เป็นการนำเอากฎหมายกว่า 40 ฉบับ รวมถึง พ.ร.บ.โรคติดต่อมาอยู่ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน ทำให้มีการบูรณาการทำงานกัน ยกตัวอย่างเรื่องปัญหาหน้ากากอนามัย ที่ตอนแรกบอกว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้บริหารจัดการ แต่พอไปดูรายละเอียดเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่สามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ได้
หรือการเกิดศูนย์ปฏิบัติการที่ต้องเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆในการนำคนไทยกลับไทย ทางกระทรวงคมนาคม ในเรื่องการข้ามแดนต่างๆ พอใช้ พรก.ฉุกเฉิน ทำให้บริหารจัดการได้ เหตุที่ต้องรวบอำนาจก็เพื่อต้องการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อควบคุมโรคให้ได้ ความสำเร็จในการควบคุมโรคส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารจัดกฎหมายตรงนี้
" เรามาอยู่ในช่วงเวลานี้ได้ ไม่ได้ต้องการให้ใครเป็นคนที่จะได้เครดิตหรือความชอบอย่างเดียว เรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้มข้น เอกชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องมาร่วมแรงกันประเทศไทยถึงจะได้ไปต่อ เพราะตอนนี้กิจการ/กิจกรรมต่างๆ เปิดแล้ว ประชาชนต้องช่วยเราร่วมแรงร่วมใจเราถึงจะชนะ"นพ.ทวีศิลป์กล่าวทิ้งท้าย