ภาษีที่ดินมาแล้ว อปท.เก็บ 1 ส.ค.

06 มิ.ย. 2563 | 00:30 น.

กรมส่งเสริมท้องถิ่น ลั่น 1 ส.ค. เก็บภาษีที่ดิน หลังเลื่อนมาแล้ว 1 รอบ กทม.-หัวเมืองใหญ่ อุดรฯพร้อม สต็อก อสังหา-โรงแรม ล้มตายเซ่นพิษโควิดไม่ยกเว้น เหตุคิดจาก มูลค่าทรัพย์ “อธิป พีชานนท์” ค้านไม่ควรซํ้าเติม ด้านครม.ใจปํ้าลดรวด 90% ท้องถิ่นสูญรายได้ปี 63  3.6 หมื่นล้าน

รัฐบาลได้เลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนจากความไม่พร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะเริ่มจัดเก็บจริง วันที่ 1 สิงหาคมนี้ 

อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บภาษีตามกฎหมายจะไม่สามารถชะลอออกไปได้อีกเแม้ว่าจะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำลายธุรกิจพังพินาศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลง แต่ต้องรับภาระภาษีใหม่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้จัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน ไม่ใช่เรียกเก็บตามรายได้ผลประกอบการอีกต่อไป 

  ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็มีปัญหาในการขายอย่างหนักหลายรายต้องแบก
สต็อกที่อยู่อาศัยจำนวนมาก หากระบายไม่ทันภายใน 3 ปีนับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาติ ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีอัตราพาณิชย์ เช่น มูลค่า 0-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3% หรือเสียภาษีล้านละ 3,000 บาทเป็นต้น

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จึงได้หารือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอบรรเทาภาระภาษีช่วยประชาชนและผู้ประกอบการ โดยขอให้ใช้มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ให้ท้องถิ่นยืดระยะเวลาจัดเก็บโดยแบ่งออกเป็น 3 งวด หรือลดภาษีลง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ

   ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ครม.มีมติเห็นชอบให้ปรับลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะปี 2563 ลง 90% แม้ว่าจะทำให้รายได้อปท.หายไป ไม่ตํ่ากว่า 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ยังคงเดินหน้าจัดเก็บตามกรอบกฎหมายเช่นเดิมในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของผู้ประกอบการ ที่เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรซํ้าเติมประชาชนและผู้ประกอบการที่กำลังเดือดร้อน

แหล่งข่าวกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยืนยันว่า แม้เกิดวิกฤติโควิด แต่กฎหมายไม่สามารถเลื่อนออกไปได้ แต่ได้ผ่อนผันให้แบ่งชำระเป็นงวดได้ และลดภาษีลงมาให้ถึง 90% ตามที่ครม.อนุมัติ จึงไม่น่าจะเป็นภาระมากนัก และยอมรับว่าหลายจังหวัด ยังขอเลื่อนจัดทำภาษี ออกบิล ออกไปถึงเดือนกรกฎาคม

ขณะที่กรุงเทพมหานคร ประเมินว่า การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงมาถึง 90% จะส่งผลให้ในปี 2563 กทม.แทบจะไม่มีรายได้เข้ามา เพราะก่อนหน้า กระทรวงการคลังยกเว้นค่อน
ข้างมาก ทั้งที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่อยู่อาศัยให้เช่าเก็บอัตราเดียวกับ ที่อยู่อาศัย ที่ดินรกร้าง ผ่อนผันปลูกพืชและเสียในอัตราเกษตรได้

ด้านนายวรงค์ คลังเงิน ท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้มีหนังสือสั่งการไปยัง อปท.ทุกแห่งทั้งที่เป็นเทศบาลตำบล และ อบต. ให้ดำเนินจัดทำแผนที่ภาษีท้องถิ่น ให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพต่างๆ ของแต่ละท้องถิ่น มีความแตกต่างทางกายภาพ อาจมีปัญหาในการดำเนินการได้ 

   ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ประจำจังหวัดอุดรธานี สำรวจ อปท.ขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี พบว่าบางแห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยว่าจ้างที่ปรึกษาเอกชน ส่วน อปท.ขนาดใหญ่ ที่มีสถานประกอบการ โรงงาน ธุรกิจการค้าอยู่มาก ต้องใช้ความละเอียดชัดเจน จึงเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติ

นายวีระพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาห กรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า สภาฯมีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกประเภท รวมไปถึงผู้ถือครองที่ดินในบางกรณี เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว ที่ให้มีการจัดเก็บภาษีให้ทั่วถึง เป็นธรรม 

แต่เห็นว่าในทางปฏิบัติของทางราชการท้องถิ่นต่างๆน่าที่จะมีข้อมูลภาษีในแต่ละท้องที่ ที่ชัดเจนแม่นยำกว่านี้ ทางราชการน่าที่จะทำการประเมินเรียกเก็บภาษีต่างๆเอากับผู้ถือครองได้เลย ไม่ใช่คอยให้เจ้าของที่ดินไปแจ้งแสดงข้อมูลกับทางราชการ

ด้านนายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่าช่วงนี้ รัฐบาลควรมีหน้าที่ช่วยเหลือ แบ่งเบาภาวะความเดือดร้อนให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ ที่กำลังได้รับผลกระทบทางการเงินจากโควิด-19 อย่างหนัก ไม่ใช่ซํ้าเติม หรือเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายจากการเก็บภาษีและสิ่งปลูกสร้างให้กับประชาชน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มติลดเก็บภาษีที่ดิน 90% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน แม้ว่าจะทำให้อปท.รายได้หาย 36,000 ล้านบาท แต่ในปีหน้าจะเก็บในอัตราปกติ ซึ่งคาดว่าจะเก็บได้เพียง 4,000 ล้านบาท จาก 40,000 ล้านบาท

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563