ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์วานนี้ (2 มิ.ย.) นางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้กล่าวตำหนิรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่าใช้พฤติกรรม “สองมาตรฐาน” ต่อกรณีการประท้วงในฮ่องกงและการประท้วงในสหรัฐเอง นอกจากนี้ยังกล่าวว่า แผนการของสหรัฐที่จะยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าต่อฮ่องกง มีแต่จะส่งผลเสียต่อสหรัฐเอง และทำลายความสำเร็จที่สหรัฐเคยสร้างมา เพราะสหรัฐมีธุรกิจอยู่ราว 1,300 บริษัทในฮ่องกง และยังได้เปรียบดุลการค้ากับฮ่องกงมากกว่าประเทศใดในโลก
"ที่สหรัฐฯ เราได้เห็นแล้วว่า รัฐบาลท้องถิ่นที่นั่นจัดการกับผู้ประท้วงซึ่งก่อจลาจลอย่างไร แล้วลองเปรียบเทียบกับจุดยืนที่พวกเขาแสดงต่อการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งแทบจะเหมือนกันไม่มีผิดเมื่อปีที่ผ่านมา"
แถลงการณ์ส่วนหนึ่งยังระบุว่า "พวกเขาห่วงใยความมั่นคงของชาติตัวเองเสียเหลือเกิน แต่พอเป็นความมั่นคงของฮ่องกง พวกเขากลับมองผ่านกระจกสีแบบตัดแสง"
"เราได้เห็นสองมาตรฐานกันอย่างชัดเจนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นว่ารัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่ง (ของสหรัฐ) ตอบสนองต่อผู้ชุมนุมอย่างไร และตอนที่ในฮ่องกงมีการจลาจลที่คล้ายคลึงกันนี้ เราก็เห็นจุดยืนของสหรัฐในครั้งนั้นที่แตกต่างจากตอนนี้" นางแลมกล่าว และยืนยันว่า จีนทำทุกอย่างตามกฎหมายในการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงสำหรับฮ่องกง
ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้ประท้วงในฮ่องกงได้เรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งทั่วไป และให้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบกรณีตำรวจฮ่องกงใช้ยุทธวิธีที่ป่าเถื่อนจัดการกับผู้ชุมนุม แต่กระนั้น ทางการฮ่องกงก็ยังไม่เคยถึงขั้นประกาศเคอร์ฟิว และขณะเดียวกันตำรวจก็ปฏิเสธข้อครหาที่ว่าใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ
ต่อมาในปีนี้ จีนซึ่งเริ่มหมดความอดทนกับกิจกรรมของผู้ประท้วงในฮ่องกงซึ่งทำให้เศรษฐกิจดำดิ่งเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ ได้มีการประกาศเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ว่าจะบังคับใช้กฎหมายความมั่นแห่งชาติในฮ่องกงฉบับใหม่ เพื่อป้องกันและปราบปรามขบวนการแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลายรัฐ ลัทธิก่อการร้าย และการแทรกแซงจากต่างชาติ กฎหมายฉบับนี้ยังจะเปิดทางให้หน่วยข่าวกรองจีนสามารถเข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการในฮ่องกงได้อย่างเปิดเผยด้วย ทำให้ชาวฮ่องกงจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวกันอีกครั้งเมื่อเดือนพ.ค. โดยมีชาติตะวันตกหลายประเทศนำโดยสหรัฐ และอังกฤษ ที่ออกมาคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ โดยอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจครอบงำทำให้ฮ่องกงหมดสภาพความเป็นเขตปกครองตนเอง และไม่ใช่ฮ่องกงภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” อีกต่อไป แต่เป็น “หนึ่งประเทศ หนึ่งระบบ” ภายใต้อาณัติของจีนแบบเบ็ดเสร็จ
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า เวลานี้ฮ่องกงไม่มีอำนาจปกครองตนเองขั้นสูงอย่างที่จีนเคยให้สัญญาไว้เมื่อตอนรับมอบเกาะแห่งนี้กลับคืนจากอังกฤษในปี 1997 (พ.ศ. 2540) ดังนั้นจึงหมดสิทธิ์ที่จะได้รับการปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษตามกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ
แต่เกี่ยวกับข้อกล่าวหานี้ ทั้งจีนและฮ่องกงต่างยืนยันว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวฮ่องกงยังคงอยู่ เหมือนเดิม “ความวิตกกังวลที่สาธารณชนมีต่อกฎหมายความมั่นคงแห่งชาตินั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ในระหว่างที่กฎหมายยังร่างไม่เสร็จ” นางแคร์รี แลม กล่าวเมื่อวันอังคาร (2 มิ.ย.) ซึ่งเป็นการแถลงข่าวครั้งแรกหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศถอนสถานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกง แลมกล่าวเตือนรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ด้วยว่า การใช้บทลงโทษกับฮ่องกงจะทำให้พวกเขาต้องเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์เอง