ฟื้นฟูอาชีพรองรับว่างงานต้อง"ยกระดับประเทศ"   

07 มิ.ย. 2563 | 02:57 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2563 | 10:17 น.

ผอ.วิจัยด้านพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ชี้คนว่างงานแนวโน้มรุนแรงขึ้น เกือบล้านทะลักกลับภาคเกษตร คาด 3 แสนรายตกงานยาว เหตุเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มตัวและโรงงานเปลี่ยนเทคโนโลยี นักศึกษาจบใหม่ 4 แสนรายออกมาทบซ้ำ เสนอแผนฟื้นฟูทักษะต้องมุ่งนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีใหม่ ลดต้นทุน  ให้สร้างอาชีพได้จริงและยั่งยืน

งบ เงินกู้4แสนล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมเริ่มแล้ว หน่วยงานทยอยส่งข้อเสนอแผนงานโครงการให้สภาพัฒน์พิจารณากลั่นกรอง เพื่อเร่งขับเคลื่อนแผนงานรองรับการพยุงภาวะเศรษฐกิจรับการคลายล็อกเป็นขั้นตอน หลายหน่วยงานมุ่งเสนอแผนงานเพื่อการสร้างงานในพื้นที่ จากภาวะที่กำลังแรงงานจำนวนมากที่หยุดงานชั่่วคราวช่วงปิดล็อก มีโอกาสว่างงานถาวร เมื่อไม่สามารถกลับสู่ตำแหน่งงานเดิมได้ จากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่ และโรงงานเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอ

 

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์การว่างงานจากพิษโควิด-19 และการเตรียมแผนงานใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมในการเสริมทักษะสร้างงานสร้างอาชีพแรงงาน  ว่า ภาวะการว่างงานของไทยยังคาดคะเนยาก จากเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดในจีนเมื่อเดือนม.ค. จนต่อมาแพร่เข้าสู่ไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยสถานการณ์ในไทยเริ่มระบาดตั้งแต่เดือนก.พ.-มี.ค.เป็นต้นมา ตัวเลขรายไตรมาสของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานภาวะการจ้างงานและการว่างงาน ในไตรมาส 1 ว่า มีระดับการว่างงานอยู่ที่เพียง 1 %

 

-แนวโน้มว่างงานรุนแรงขึ้น
    

แต่เมื่อดูตัวเลขรายเดือนพบว่าตัวเลขการว่างงานจะเห็นชัดกว่า โดยในเดือนก.พ.เมื่อดูในรายสาขาทั้ง 21 สาขาเศรษฐกิจหลัก พบว่าสถานการณ์การจ้างงานยังก้ำกึ่ง คือมี 10 สาขาที่ยังมีการจ้างงานเพิ่ม และมี 11 สาขาที่ลดลง โดยเวลานั้นภาคการเกษตรเพิ่มถึง 3 % ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจ้างงานเพิ่ม 1.6 แสนคน 
    

ภาพการว่างงานเริ่มปรากฎชัดขึ้นในเดือนมี.ค.ที่เริ่มกระทบเต็ม ๆ  โดยใน  21 สาขาเศรษฐกิจหลักนั้น รายงานว่ามีผลกระทบถึง 17 สาขา มีสาขาที่ไม่กระทบหรือมีการจ้างงานเพิ่มเพียง 4 สาขา หนึ่งในจำนวนนี้คือภาคเกษตร และด้านโลจิสติกส์ ที่การขนส่งสินค้ายังขยายตัวในช่วงปิดล็อก 
    

จากตัวเลขพบว่าคนในภาคอุตสาหกรรมหายไป 4 % คิดเป็นกำลังแรงงานกว่า 1 ล้านคน ในกลุ่มนี้มีเกือบ 7-8 แสนคน ที่โยกย้ายกลับสู่ภาคเกษตร หรือที่กลับภูมิลำเนา 
ฟื้นฟูอาชีพรองรับว่างงานต้อง\"ยกระดับประเทศ\"        

ในเบื้องต้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่กิจการตัดสินใจหยุดกิจการชั่วคราว หรือถูกรัฐสั่งปิดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รัฐบาลใช้เงินเยียวยา 5 พันบาท 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) ซึ่งก็ใช้เงินไปหลายแสนล้านบาทแล้ว 
    

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้ตัวเลขพนักงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบระยะสั้น หยุดงานชั่วคราว ว่าจะมีถึง 8 % ของกำลังแรงงานที่มีประมาณ 37-38 ล้านคน หรือ 7-8 ล้านคน ขณะที่การว่างงานตามสถิติตัวเลขอาจจะอยู่ที่ 3-5 แสนคน 
    

มีประเด็นเชิงนโยบายว่า คนที่หลุดจากตำแหน่งงานในช่วงระบาดหนักเหล่านี้ ครบกำหนดที่รัฐเยียวยาแล้ว เริ่มคลายล็อกกลับมาเปิดกิจการ บางคนกลับมาทำงานต่อ แต่ไม่ทั้งหมด คนที่ยังไม่มีงานรองรับขณะที่การเยียวยาในวงเงิน 6 แสนล้าน ที่อาจยังมีเงินเหลือจ่ายอยู่นั้น รัฐจะมีนโยบายอย่างไรต่อกับคนเหล่านี้

-ข้อเสนอการดูแลกำลังแรงงานในงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท
    

ส่วนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมที่มีวงเงิน 4 แสนล้านไว้รองรับนั้น มีกิจกรรมด้านการยกระดับพัฒนาทักษะแรงงานอยู่ในแผนงานที่หน่วยงานราชการเตรียมดำเนินการ ทั้งการฟื้นฟูทักษะใหม่ และยกระดับทักษะให้สูงขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป
    

กำลังแรงงาน 7 ล้านคนในภาคอุตสาหกรรมนั้น เป็นหัวใจหลักที่สร้างผลิตภาพประเทศที่ผ่านมา ส.อ.ท.ประเมินว่าจะมี 3-4 % หรือประมาณ 3 แสนคนที่หลุดจากตำแหน่งงานแล้วกลับมาไม่ได้ เนื่องจากในห้วงวิกฤติการระบาดเชื้อโควิด-19 ผู้ประกอบการ-โรงงาน แบกค่าใช้จ่ายไม่ไหวต้องหยุดกิจการชั่วคราว เมื่อทยอยกลับมาเปิดใหม่ จากเดิมเคยจ้าง 100 คน อาจกลับมาได้แค่ 30-40 คน เพราะตลาดก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ขณะเดียวกันโรงงานอาจหันไปลงทุนระบบออโตเมชั่น ลดการใช้กำลังแรงงานลง คนที่จะกลับเข้าตำแหน่งงานได้ใหม่ต้องมีทักษะ สามารถปรับตัวรับกติกาใหม่   
    

เช่นเดียวกับแรงงานในภาคบริการ ทั้งค้าปลีก ท่องเที่ยว จนถึงบริการขนาดเล็ก เช่น เสริมสวย นวดแผนไทย นวดสปา ที่อาจเป็นการร่วมหุ้นกันของคนสอง-สามคนในกลุ่มเพื่อนหรือญาติ เปิดบริการร้านนวด ที่มีกำลังแรงงานรวม 18-19  ล้านคน เมื่อหยุดกิจการไปแล้ว โอกาสจะกลับมาเปิดใหม่เป็นได้ยาก 

-ภาคเกษตรดูดซับแรงงานได้จำกัด
    

ภาครัฐต้องเตรียมมาตรการรองรับในการดูแลด้านกำลังแรงงานในระยะฟื้นฟูต่อจากนี้ไปด้วย อาจแยกเป็นกลุ่มใหญ่  ๆ ได้ดังนี้
    1.แรงงานคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร      
    

สถิติคนว่างงานเดือนเม.ย.ยังเพิ่ม คนนับล้านที่ย้ายกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเงินออมจำกัด พอเลี้ยงชีพอยู่ได้ไม่นานเพียง 3-4 เดือน เงินออมก็จะหมด คนกลุ่มนี้รัฐอาจต้องมีโปรแกรมการฟื้นฟูที่เป็นสร้างฝึกอบรมให้กลับสู่การทำงานภาคเกษตร 
    

โดยกลุ่มกำลังแรงงานคืนถิ่นที่พร้อมรับการยกระดับทักษะใหม่ อาจเข้าไปช่วยผลักดันการเกษตรสมัยใหม่แม่นยำ มีมูลค่าเพิ่มสูงจากการที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมที่สูงขึ้น มีต้นทุนต่ำลง แต่ต้องยอมรับว่าในภาคเกษตรเองก็มีข้อจำกัดและแบกปัญหาตั้งแต่ก่อนเจอโควิด-19 แล้ว ทั้งสงครามการค้าที่ทำให้ตลาดโลกชะลอ หรือปัญหาภัยแล้ง 

-สร้างผู้ประกอบการใหม่
  

 2.กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก(เอสเอ็มอี)
    

กลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 3 ล้านครอบครัว เมื่อภาคเกษตรมีขีดจำกัดในการรองรับกำลังแรงงานกลับถิ่น นอกจากอบรมทักษะในสาขาการเกษตรแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งคือการฝึกทักษะให้คนกลุ่มนี้มุ่งสู่อาชีพอิสระ เช่น การต่อยอดแปรรูปเกษตรเป็นสินค้า
  

 3.กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ 
    
ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัว มีนักศึกษาที่อยู่ระหว่างหางานอยู่แล้ว 1-1.5 แสนคน จากจำนวนนักศึกษาจบใหม่ปีละประมาณ 3-4 แสนคน ที่เพิ่งจบในเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ ที่โอกาสจะหางานทำเป็นไปได้ยาก  คนกลุ่มนี้ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน 

-อบรมชาวบ้านอย่าให้"สูญเปล่า"
    

กระทรวงอุดมศึกษาฯ(อว.)ออกแบบโครงการรองรับโดยใช้ครูบาอาจารย์เป็นตัวเชื่อมให้ลงไปทำงานในชนบท เป็นโครงการจ้างงานระยะสั้น ในอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท หรือประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน ให้มีโอกาสได้ทำงาน ในการไปทำงานด้านเก็บข้อมูล นำองค์ความรู้เข้าไปในพื้นที่ ผ่านสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่ทำงานเป็นเครือข่าย มีการออกแบบหลักสูตรการอบรมให้คนชนบท โดยผู้เข้าอบรมมีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 200 บาท เป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง 
    

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า โครงการฝึกอบรมสร้างอาชีพต่าง ๆ นั้น ควรเป็นอาชีพอิสระที่ทำด้วยตัวเอง แปรรูปต่อยอดจากผลผลิตการเกษตร ควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่กินได้ มีอายุการเก็บได้นานพอสมควร เพราะหากเป็นสินค้าที่อายุสั้นเน่าเสียง่าย จะเพิ่มความเสี่ยง 
    

หน่วยงานราชการ อาทิ กระทรวงเกษตรฯ พัฒนาชุมชน ควรต้องเข้ามาร่วมคิดโปรเจ็กในรายละเอียดขึ้นมารองรับ จากเดิมที่มักจัดการอบรมพัฒนาทักษะกันเป็นประจำอยู่แล้ว และทำกันปีได้ละนับ 2-3 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่มีเนื้อหาทักษะที่เป็นส่วน ๆ เป็นเรื่อง ๆ ที่ไม่ครบวงจร ไม่บูรณาการจนทำให้ผู้ผ่านการอบรมสามารถนำไปสร้างงานได้อย่างแท้จริง "ก็หวังว่าจะไม่ทำอะไรที่เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ"
    

นายยงยุทธกล่าวอีกว่า ทิศทางในอนาคตมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรสมัยใหม่ ที่ต้องการเทคโนโลยี โดยหลักการคือต้องแข่งขันได้ ต้นทุนต่ำลง เช่น การรวมแปลง ต้องเป็นการรวมที่ไม่ใช่รวมคนอย่างที่ทำมา ที่มีอยู่ 4-5 พันแห่ง ถ้ายังเป็นเพียงรวมคนให้ดูว่าเป็นที่แปลงใหญ่ แต่ยังยึดติดเขตแปลงกันอยู่ การจะใช้เครื่องจักรเครื่องมือให้ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทำได้ไม่ถึงที่สุด 
    เด็กรุ่นใหม่ที่กลับภูมิลำเนาในการทำโปรเจ็กรองรับ ต้องให้ยั่งยืนจนมีอาชีพขึ้นมาได้ โดยต้องเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ที่มีสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้าร่วม ต้องยกระดับกำลังแรงงานรุ่นใหม่เหล่านี้ให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับการผลิต มีการสอนเรื่อง AI มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของดิจิทัล ที่จะสามารถนำมาใช้ในการทำงานได้ 
    

สิ่งที่กระทรวงอว.กำลังทำอยู่ 2-3 โปรแกรม ในการฝึกอบรมยกระดับทักษะแรงงานของผู้เคยอยู่ในกำลังแรงงานเดิม โปรแกรมต้องยาวหน่อย โดยใช้อาจารย์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยต่าง ๆ เข้ามาเป็นเครือข่าย ตั้งงบประมาณไว้ 1.8 พันล้านบาท เป้าหมายยกระดับทักษะกำลังแรงงาน 7 หมื่นคน  ส่วนนักศึกษาปริญญาตรีในสาขาเป้าหมายที่มีผลการเรียนดีมีแวว จะจัดหาทุนให้ไปศึกษาต่อเพื่ปั้นเป็นครีมของประเทศต่อไป โครงการที่ให้ผลยั่งยืนควรจะขยายงบประมาณให้มากขึ้น

-จ้างงานโยธาต้องยั่งยืน 
    

นายยงยุทธกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในกลุ่มคนที่หลุดจากตำแหน่งงานบางส่วนเป็นคนรุ่นเก่า อายุมาก  ปรับตัวรับทักษะการผลิตใหม่ ๆ ได้ยาก รวมถึงคนคนรุ่นเก่าที่ตกจากระบบการศึกษา เป็นแรงงานไร้ฝีมือ หรือลูกจ้างเกษตรระดับล่าง ที่มีอยู่ 2-3 ล้านคน และจะมีเพิ่มจากคลื่นคนตกงานกลับบ้านในชนบทอีกเป็นเท่าตัวจากนี้ เป็นอีกกลุ่มที่รัฐต้องคิดนโยบายรองรับด้วยเช่นกัน การจ้างานในลักษณะงานโยธาบางประเภทอาจจำเป็นต้องมี เพื่อรองรับแรงงานกลุ่มนี้ให้มีอาชีพ มีรายได้ เพียงแต่ต้องเลือกงานที่ทำแล้วช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพชีวิต ให้ดอกผลที่ยั่งยืน
    

รวมทั้งต้องมีการประเมินผล เช่น โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนหรือไร่นา มีโครงการลักษณะนี้เยอะมาก หากเอาข้อมูลมาลงจุดในแผนที่จะพบว่ามีการตั้งโครงการขุดแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพื้นที่เดียวกัน โดยเฉพาะในภาคอีสาน แต่ขุดแล้วใช้ไม่ได้เก็บน้ำไม่ได้ หากจะทำอีกควรต้องร่วมกับฝ่ายวิชาการ เอาเทคโนโลยีเข้าไปทำงานร่วมให้ขุดแล้วใช้งานได้จริง