ต่อกระแสข่าวที่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่จะดำเนินการ "นิรโทษกรรม"ทางการเมืองนั้น
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และอดีตผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเห็นด้วยมองเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อจะสร้างความสามัคคีปรองดองในสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้พยายามผลักดันกันมานานแล้ว
ส่วนความกังวลว่าอาจเป็นชนวนความขัดแย้งขึ้นใหม่นั้น พล.อ.เอกชัย ยํ้าว่า จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่การนิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่มีการทำอย่างเป็นขั้นตอน มีรายละเอียดที่ชัดเจน
ส่วนกรอบเวลาคือ คดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับแต่การยึดอำนาจของคมช. เมื่อ 19 กันยายน 2549 ซึ่งคณะกรรมการเพื่อสร้างความปรองดองในชุดสนช.เสนอให้นิรโทษกรรมถึงปี 2557 แต่เพื่อให้ครอบคลุมถึงความผิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากนั้น เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มอยากเลือกตั้ง เป็นต้น เห็นว่าครั้งนี้ควรจะขยายให้ถึงวันยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งล่าสุด”
พล.อ.เอกชัย ยํ้าว่า “เวลานี้เหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะเพื่อไทยก็มีไปอยู่กับพลังประชารัฐ แกนนำทั้งพันธมิตรฯ นปช. หรือ กปปส. ก็ถูกตัดสินไปอยู่ในคุกแล้ว และจะเจอกันอีกหลายคดี ถึงเวลาที่น่าจะทำเรื่องนี้เพื่อให้สังคมคืนสู่ความปรองดองเสียที”
ด้านนายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า ถ้ามีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเชื่อว่าจะมีผลบวกต่อการเมืองไทย แต่ต้องมีคำอธิบายระดับหนึ่ง ให้ดูด้วยว่า กรณีมีคนค้านค้านด้วยเหตุผลใด ให้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันดูว่าอะไรเป็นอะไร และคิดว่าช่วงหลังโควิดไม่ระบาดจะเป็นโอกาสดี ซึ่งตอนนี้หลายคนโดนคดีต่างๆ อยากจะให้พลิกหน้ากระดาษเพื่อตั้งต้นใหม่แล้วเดินหน้าต่อ
“เรื่องนิรโทษกรรมจะสำเร็จไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วย รัฐบาลต้องเป็นคนตัดสินใจเลย”