“พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” ถือเป็นค้าปลีกโมเดลใหม่ของเมืองไทย ที่จะมาเติมเต็มให้อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งไทยซึ่งมีมูลค่ากว่า 3.5 ล้านล้านบาทเติบโตในระยะยาว ด้วยเป้าหมายที่ต้องการตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ และสายช็อปชาวไทย วันนี้ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ตจึงเป็นเค้กก้อนโต ที่ผู้ประกอบการต่างจับจ้อง และการแจ้งเกิดของ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ” ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับ “เซ็นทรัล วิลเลจ” ที่นำร่องเปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้
นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร “เซ็นทรัล วิลเลจ” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ผู้ประกอบการ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ตต้องการ นับจากเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2562 พบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ประเทศในอาเซียน (มาเลเชีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์) อินเดีย และ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทย 70% ต่างชาติ 30% ก่อนจะเผชิญกับช่วงโควิด ทำให้สัดส่วนลูกค้าลดลง ขณะที่การกลับมาเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม เริ่มมีลูกค้ากลับเข้ามาใช้บริกากรแล้ว 75% จากช่วงเวลาปกติ ในช่วงวันหยุด และคาดว่าจะกลับมาเต็ม 100% ภายในเดือนมิถุนายนนี้
“ในครึ่งปีหลังเซ็นทรัล วิลเลจเตรียมอัดฉีดงบการตลาดเต็มที่ โดยแคมเปญใหญ่จะเป็นการฉลองครบรอบ 1 ปีของการเปิดให้บริการ และเตรียมจัดแคมเปญในช่วง Festive Period ปลายปีหากสถานการณ์ท่องเที่ยวดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีแคมเปญใหญ่ทุกเดือนเพื่อกระตุ้นยอดทราฟฟิกและ spending นักช็อปด้วย”
อย่างไรก็ดี การมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา ย่อมทำให้มีการแข่งขัน นอกจากจะช่วยกระตุ้นตลาดพรีเมี่ยม เอาท์เล็ตให้เติบโตเพิ่มขึ้นแล้ว กลุ่มผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือ ผู้บริโภคและประเทศ อย่างไรก็ดี บริษัทเตรียมสร้างแม็กเน็ตใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่าน 3 Levels คือ
1. การมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งทางออนไลน์ ผ่านกลยุทธ์ Intensive Omnichannel ผ่านบริการ Chat & Shop ทั้งนี้ หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว จึงรุกทำ Online Shopping Channel ผ่าน own media ของเซ็นทรัลพัฒนาที่มีศูนย์การค้าอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศซึ่ง 1 เดือนที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างยอดขายจากนักช้อปทั่วประเทศ โดยบริษัทจะต่อยอด online shopping platform นี้ เพื่อจับกลุ่มมิลเลนเนียล กลุ่ม Young Affluent และกลุ่มคนไทยทั่วประเทศซึ่งชื่นชอบการช้อปแบรนด์เนม ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศก็สั่งสินค้าส่งตรงจากเซ็นทรัล วิลเลจได้ ลูกค้าสามารถช้อปสะดวกขึ้น ได้ของจากแบรนด์ตามที่ต้องการ และรุ่นที่ตามหาง่ายขึ้น
2. การร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลกต่างๆ ทำ New Collaboration Project with Global Brand เป็นความร่วมมือที่จะสร้าง Engagement และ WOW Element สร้างสีสันและปรากฏการณ์ให้กับเอาท์เล็ตไทย 3. การผนึกกำลังกับบริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย หนึ่งในบริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บิ๊กอสังหาฯ ระดับโลก ผู้พัฒนาเอาท์เล็ตที่มีสาขากว่า 9 แห่งทั่วญี่ปุ่น อาทิ โกเทมบะริงกุ ชิซุย ช่วยต่อยอดความสำเร็จของเซ็นทรัล วิลเลจให้สู่การเป็น World-class outlet with Thai-Japanese hospitality เทียบชั้นเอาท์เล็ตระดับโลก โดยเตรียมจัดทำโครงการเพื่อต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเอง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ด้านนายไมเคิล ถัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด ผู้บริหาร “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ” กล่าวว่า ปัจจุบันแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์เริ่มมองว่าเอาท์เล็ต เป็นโมเดลที่น่าสนใจ และเป็นการทำตลาดอีกรูปแบบที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ ดังนั้นจะเห็นว่านอกเหนือจากดีไซน์และโปรดักส์ที่เป็นหัวใจหลักแล้ว การมุ่งสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคให้มากที่สุดคือเป้าหมายสำคัญ
“ในเบื้องต้น คงยังไม่ได้พูดถึงยอดขายหรือจุดคุ้มทุนเท่าไร เพราะเราต้องการสร้างแบรนด์อะแวร์เนส ให้คนรู้จักว่า สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ตคือใคร ตั้งอยู่ที่ไหน และมาใช้บริการ”
ขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่เดิมคาดว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40% และคนไทย 60% นั้นหลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถทำการบินได้ แน่นอนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถมาได้ จึงต้องปรับเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย 80% และต่างชาติ ที่พักอาศัยในเมืองไทย 20% แต่เชื่อว่าหลังสถานการณ์ต่างๆคลี่คลาย กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาอย่างแน่นอน
“นักท่องเที่ยวต่างชาติวันนี้ได้แต่รอ ซึ่งทุกคนเป็นเหมือนกันหมด แต่เราก็พร้อมรองรับหากเปิดประเทศให้มีการบินไปมาได้ โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นเป้าหมายที่เราต้องการคิดเป็นสัดส่วน 50-60% ในจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และเบื้องต้นได้เตรียมพร้อมทั้งพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ ป้ายต่างๆ ภายในศูนย์ก็มีภาษาจีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าจีนที่จะเข้ามาในอนาคต”
การทำตลาดจะมุ่งเน้นไปที่ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งมากขึ้น การใช้สื่อโซเชียล มีเดียมากขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการดำเนินงานในปีนี้จะไม่ได้ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น แต่จะมุ่งไปที่การควบคุมต้นทุนให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือกับร้านค้าในการทำการตลาดต่อเนื่องให้สอดรับกับศูนย์ด้วย
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563